วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑

ครอบครองปรปักษ์ ? ต้องรู้ตัวหรือไม่ว่าเป็นที่ดินของคนอื่น

อันนี้ ลูกความถามมาว่า ลูกความทำกำแพงรุกล้ำที่ดินข้างเคียงมากว่าสิบปีแล้ว โดยไม่รู้ว่าเป็นที่ดินของคนอื่น แต่คิดว่าเป็นที่ดินของตนเอง วันดีคืนดี ได้มีการสอบเขตวัดที่ดินจึงทราบว่ากำแพงของตนรุกล้ำที่ข้างเคียง เช่นนี้แล้วลูกความจะได้ที่ดินที่กำแพงรุกล้ำไปโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ? และถ้าต่อมาภายหลังเจ้าของที่ดินข้างเคียงขายที่ดินให้บุคคลภายนอก บุคคลภายนอกนั้นจะมาฟ้องร้องลูกความให้รื้อกำแพงได้หรือไม่ ?
--------------------------------------
ตามที่ได้รับมอบหมายให้สืบค้นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองปรปักษ์ โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้ว่า ฝ่ายลูกความได้สร้างรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินข้างเคียงเกินกว่า 10 ปีแล้ว ต่อมาภายหลังจากระยะเวลา 10 ปีได้ผ่านไปแล้ว เมื่อมีการรังวัดพื้นที่จึงทราบว่ามีการรุกล้ำ ดังนี้ลูกความจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร
จากการค้นพบว่ามีฎีกาที่เกี่ยวข้องดังนี้

ฎีกาที่ 477/2533 “..จำเลยครอบครองที่ดินรุกล้ำที่ดินโจทก์โดยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่จำเลยครอบครองรุกล้ำโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382"

ลูกความได้กรรมสิทธิในที่ดินซึ่งถูกรุกล้ำนั้นแล้ว ดังนั้นเจ้าของที่ดินซึ่งถูกรุกล้ำจึงไม่มีสิทธิฟ้องลูกความฐานบุกรุกและให้รื้อถอนรั้วที่สร้างขึ้นไว้ได้ รายละเอียดตามฎีกาที่แนบมาด้วย

ฎีกาที่ 265/2530 “ที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนด เลขที่ 6343 ที่โจทก์ซื้อมา โดยโจทก์ได้ทราบในขณะซื้อแล้วว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่พิพาทอยู่ทั้งเข้าใจว่าเป็นของจำเลย เพียงแต่สำคัญผิดว่าเป็นที่ดินอยู่นอกโฉนด ดังกล่าว เช่นนี้จำเลยย่อมยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ว่าโจทก์จดทะเบียนรับโอนมาโดยไม่สุจริต”

ในกรณีนี้ที่ดินมีการทำรั้วแบ่งกั้นเป็นสัดส่วนแล้ว ถ้าเจ้าของที่ดินซึ่งถูกลูกความรุกล้ำนั้นขายที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว บุคคลภายนอกย่อมไม่สามารถอ้างว่ารับโอนมาโดยสุจริตได้ รายละเอียดตามฎีกาที่แนบมาด้วย

ถ้าลูกความต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนก็ต้องดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลเพื่อให้มีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ อย่างไรก็ตามถึงแม้ลูกความจะไม่ดำเนินการฟ้องร้องเพื่อแก้ไขทางทะเบียน ผู้ที่รับโอนที่ดินไปก็ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่ลูกความได้เพราะไม่ใช่ผู้รับโอนโดยสุจริตแล้ว ตามนัยฎีกาข้างต้น

ไม่มีความคิดเห็น: