วันอังคารที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑

การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา - สกัดหลักกฎหมายจากคำพิพากษา

อันนี้เป็นเรื่องสัญญา โดยที่หน่วยงานภาครัฐทำสัญญากับผู้รับเหมา และเมื่อทำงานไปจริงปรากฎว่างานมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ทำให้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแพงกว่าที่ตกลงกันไว้ ผู้คุมงานมีหนังสือยินยอมให้แก้ไขได้สัญญาก่อสร้างและขึ้นราคาได้ แต่พอเวลาจ่ายเงินจริง คนจ่ายเงินดูตามสัญญาที่ตกลงกันไว้แต่แรก ปัญหาก็คือจะภาครัฐจะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นตามที่ผู้คุมงานมีหนังสือยินยอมหรือไม่

ตามที่ได้รับมอบหมายให้ค้นคำพิพากษาศาลฏีกาในประเด็นสัญญาก่อสร้างที่ผู้รับเหมาได้ทำการเพิ่มเติมงานโดยไม่ได้แจ้งให้เจ้าของงานทราบภายในกำหนด หรือแจ้งภายในกำหนดแล้วแต่ไม่ได้ส่งเอกสารเพิ่มเติมภายในกำหนดเวลานั้น
จากการอ่านข้อสัญญาข้อ 11 ที่เป็นประเด็นปัญหานั้น พบว่าการแจ้งหรือการส่งเอกสารภายในกำหนดนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้รับเหมาที่จะเรียกร้องแต่อย่างใด สิทธิของผู้รับเหมาจะเกิดขึ้นต่อเมื่อได้รับความตกลงยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของก่อนเท่านั้น (“…Any adjustment in the Contract Price or scheduled time pursuant to a claim by the Contractor and agreed to in writing by the Contractor and OWNER shall be binding on and paid by OWNER. …”)
มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาด้านล่างนี้ วินิจฉัยว่าถ้าสัญญาก่อสร้างมีการเพิ่มเติมงาน และผู้รับเหมาก่อสร้างดำเนินการไปโดยที่ยังไม่ได้รับคำยินยอมจากเจ้าของก่อน ถือเป็นความผิดของผู้รับเหมาเอง ผู้รับเหมาไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเงินที่เพิ่มขึ้นจากเจ้าของแต่อย่างใด คำพิพากษาโดยละเอียดได้แนบมาด้วยแล้ว
ฎีกาที่ 6443/2540
การที่โจทก์สำรวจพบหินพืดและหินผุในสายทาง ซึ่งต้องระเบิดทิ้งและอยู่นอกเหนือจากแบบและรายการประมูล โจทก์จะต้องปฏิบัติตามสัญญาจ้างโดยตกลงเพิ่มเติมงานและคิดราคากับจำเลยใหม่ เมื่อโจทก์เพียงแต่สอบถามคณะกรรมการตรวจการจ้างถึงวิธีดำเนินการ แม้คณะกรรมการตรวจการจ้างพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยกับวิธีการที่จะระเบิดหินและให้ดำเนินการไปได้แต่เมื่อลักษณะงานที่เพิ่มขึ้นเช่นนี้เป็นสาระสำคัญของสัญญาเพราะเกี่ยวข้องกับเงินค่าจ้างที่เปลี่ยนแปลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากจะดำเนินงานต่อไปคู่สัญญาจำต้องทำความตกลงกันใหม่เสียก่อนตามเงื่อนไขของสัญญาจ้าง แต่โจทก์กลับทำข้ามขั้นตอนโดยจำเลยไม่ได้รู้เห็นหรือร่วมตกลงด้วยเพราะอุปสรรคที่พบและจำนวนค่าจ้างที่สูงขึ้นอาจมีผลทำให้ต้องยกเลิกการจ้างได้ โจทก์จึงไม่อาจนำมากล่าวอ้างเพื่อเรียกร้องเอาเงินเพิ่มได้ ดังนี้เป็นความผิดพลาดบกพร่องของโจทก์แต่ฝ่ายเดียวจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบชำระค่าจ้างในส่วนงานที่เพิ่มแก่โจทก์
ฎีกาที่ 3532/2532
โจทก์ทำสัญญารับจ้างเหมาปรับปรุงที่ดินกับจำเลยที่ 2 ตามสัญญากำหนดวิธีการถมให้โจทก์ปฏิบัติไว้ เมื่อโจทก์ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวแล้วเกิดขัดข้องไม่สามารถทำงานต่อไปได้ โจทก์เลือกทำงานต่อไปด้วยวิธีการใหม่โดยไม่รอทำความตกลงกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการทำงานเพิ่มเติมจากข้อกำหนดในสัญญา แต่ตามสัญญากำหนดไว้ว่าการเพิ่มเติมงานจักต้องคิดและตกลงราคากันใหม่ ถ้าจักต้องเพิ่มค่าจ้างก็ต้องทำความตกลงเป็นหนังสือไว้ต่อกัน เมื่อโจทก์มิได้ตกลงกับจำเลยที่ 2 เป็นหนังสือ จึงนับว่าโจทก์กับจำเลยที่ 2 ยังมิได้มีสัญญาต่อกันในส่วนที่โจทก์ทำงานเพิ่มเติมนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างเพิ่มเติมจากจำเลยที่ 2

๒ ความคิดเห็น:

Ninja Froggy กล่าวว่า...

อ่านบทความของคุณแล้วได้ควมรู้เยอะมากๆเลยค่ะ

Ninja Froggy กล่าวว่า...

ขอบคุณนะคะ อ่านบทความของคุณแล้วได้ความรู้ขึ้นเยอะเลยค่ะ ติดตามอ่านอยู่นะคะ