ตามบันทึกนี้ ผมได้รับคำสั่งให้ค้นปัญหาข้อกฎหมายว่า ในกรณีที่ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินทราบข้อต่อสู้ระหว่างผู้สั่งจ่ายกับผู้ทรงคนก่อนตน จะถือว่าเป็นการโอนโดยคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่ ? ซึ่งเป็นประเด็นตามมาตรา 916 ของ ป.พ.พ. โดยถ้าถือว่าเป็นว่าการโอนโดยคบคิดกันฉ้อฉลแล้วผู้สั่งจ่ายก็สามารถยกข้อต่อสู้ที่มีขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนได้ แต่ได้ไม่ถือว่าเป็นการคบคิดกันฉ้อฉลแล้วก็ไม่สามารถยกขึ้นต่อสู้ได้
-------------------------------------------
โดยจากการค้นหาแนวคำพิพากษาศาลฎีกา "จะถือว่าเป็นการคบคิดกันฉ้อฉล" ดังนัยฎีกาต่อไปนี้
ฎีกาที่ 1003/2539 “…โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าเช็คดังกล่าวเป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้จำเลยที่ 2 เป็นค่าจ้างสร้างบ้านงวดที่ 4 และจำเลยที่ 2 ได้ทิ้งงานไปไม่สร้างให้เสร็จตามสัญญาจำเลยที่ 1 จึงไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระตามเช็คพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 การรับโอนเช็คพิพาทของโจทก์จากจำเลยที่ 2 เป็นการรับโอนโดยคบคิดกันฉ้อฉล…”
ฎีกาที่ 371/2534 “…ขณะรับโอนเช็คพิพาทโจทก์รู้ข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 อยู่แล้วว่า จำเลยทั้งสองได้ตกลงให้เช็คพิพาทเป็นเพียงเช็คค้ำประกันเงินกู้มิให้นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินและมิให้โอนไปยังผู้อื่น การที่โจทก์รับโอนเช็คพิพาทไว้จากจำเลยที่ 2 ทั้งๆที่ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวเช่นนี้จึงเท่ากับโจทก์กระทำการโดยไม่สุจริต ถือว่าโจทก์รับโอนเช็คไว้คบคิดกันฉ้อฉลกับจำเลยที่ 2…”
ฎีกาที่ 2190/2532 “… จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังมอบให้ว. โดยมีข้อตกลงว่า ว.จะบังคับให้ใช้เงินตามเช็คได้ต่อเมื่อภาพยนตร์ที่ร่วมกันสร้างได้ฉายทางโทรทัศน์จนมีกำไร เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่ออกให้แก่ว. ผู้ทรงคนก่อนเพื่อเป็นการประกันการปฏิบัติตามสัญญาหุ้นส่วน เมื่อว.ยังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาหุ้นส่วนโดยไม่จัดการชำระบัญชีให้ถูกต้องแล้วกลับโอนเช็คให้โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยโจทก์รู้ถึงข้อตกลงในการเข้าหุ้นส่วนดังกล่าว เป็นการยืมมือโจทก์ฟ้อง ย่อมถือว่าโจทก์กับว.คบคิดกันฉ้อฉลจำเลยทั้งสอง…”
ฎีกาที่ 2111-2112/2529 “…เมื่อส. โอนเช็คพิพาทให้โจทก์โดยกรรมการผู้จัดการของโจทก์เข้าไปเกี่ยวข้องและรับทราบเรื่องราวเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินระหว่างส. กับจำเลยมาโดยตลอดเป็นลำดับ จนกระทั่งมีการตกลงเลิกสัญญากันทำให้เช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ และส.ต้องคืนให้จำเลยดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทจากส.โดยไม่สุจริตและการโอนเช็คระหว่างส.กับโจทก์มีขึ้นโดยคบคิดกันฉ้อฉล…”
ฎีกาที่ 1768/2517 “…การที่โจทก์ยอมรับโอนเช็ครายพิพาทมาโดยรู้ว่าเช็คนั้นเป็นเช็คที่จำเลยออกให้เพื่อเป็นการประกันหนี้งานรับเหมาช่วงงานก่อสร้าง และจำเลยผู้สั่งจ่ายไม่มีมูลหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่ส.ตามเช็คนั้นแล้ว โจทก์ผู้ทรงเช็คพิพาทจึงไม่ใช่ผู้ทรงโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย…”
ฎีกาที่ 768/2511 “…จำเลยสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้ทรงคนก่อนเพื่อเป็นประกันการปฎิบัติตามสัญญา เมื่อผู้ทรงคนก่อนยังไม่ปฏิบัติตามสัญญา และจำเลยสั่งห้ามธนาคารจ่ายเงินตามเช็ค ผู้ทรงคนก่อนจึงสลักหลังโอนเช็คให้โจทก์มาฟ้อง เป็นการยืมมือโจทก์มาฟ้อง ดังนี้ย่อมถือว่าเป็นการคบคิดกันฉ้อฉล…”
อนึ่ง มีฎีกาที่ 467/2532 วินิจฉัยว่า “ การคบคิดกันฉ้อฉลหรือความไม่สุจริตอันจะทำให้ผู้สั่งจ่ายยกความเกี่ยวพันระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อนขึ้นต่อสู้ผู้ทรงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 916นั้น จะต้องเกิดขึ้นขณะที่ผู้ทรงรับโอนเช็ค ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น