อันนี้ลูกความที่เป็นห้างสรรพสินค้าถูกฟ้องร้อง เลยสอบถามความเห็นถึงแนวทางป้องกัน ว่าจะทำยังไงได้หรือไม่เพื่อไม่ให้ถูกฟ้อง
-----------------------------------------------
จากกรณีที่ห้างจำเลยถูกโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ เพื่อให้ร่วมรับผิดในกรณีที่รถยนต์ของโจทก์หายไปจากลานจอดรถของห้าง สาขา?? โดยห้างมอบหมายให้สำนักงานฯ เป็นที่ปรึกษาคดีนี้ ซึ่งจะประชุมร่วมกันในวันอังคารที่ 12 นี้ นั้น
ผู้ทำบันทึกได้ดูคำฟ้อง แนวคำพิพากษาฎีกา และเอกสารต่าง ๆ ซึ่งคุณก.และคุณข.เป็นผู้รวบรวมแล้ว ใคร่ขอเสนอข้อพิจารณาเพื่อเป็นแนวทางในการประชุมกับห้าง ดังนี้
1. ในคดีก่อน ๆ นั้น โจทก์จะฟ้องให้ผู้ประกอบกิจการค้ารับผิดในกรณีรถหายในฐานเป็นผู้รับฝากทรัพย์ ซึ่งศาลฎีกาได้วางบรรทัดฐานตลอดมาว่า การฝากทรัพย์ตามมาตรา 657 จะต้องมีการส่งมอบทรัพย์ การที่โจทก์นำรถยนต์เข้าจอดในที่จัดไว้ให้ โดยจะเลือกจอดตรงไหนก็ได้ จอดแล้วก็เก็บกุญแจรถไว้เอง ยังไม่ถือเป็นการส่งมอบรถยนต์ ไม่เป็นการฝากทรัพย์ ส่วนการที่จำเลยจัดพนักงานไว้คอยแจกบัตรจอดรถตอนเข้าและเก็บบัตรคืนตอนนำรถออก เป็นเพียงมาตราการช่วยรักษาความปลอดภัยให้เท่านั้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด
2. ต่อมาอาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ได้ทำหมายเหตุไว้ท้ายคำพิพากษาฎีกาที่ 1538/2526 สรุปว่า ความรับผิดตามสัญญาอาจมีได้โดยไม่จำต้องเข้าลักษณะเอกเทศสัญญาลักษณะใดลักษณะหนึ่งโดยเฉพาะ การจัดที่จอดรถยนต์ให้ แม้ไม่ใช่สัญญาฝากทรัพย์แน่นอน แต่เป็นอันแจ้งชัดว่ามีสัญญาเหมือนกัน โจทก์จะต้องนำสืบว่ามีหนี้ระหว่างคู่สัญญาอย่างไร และเป็นหน้าที่ของจำเลยต้องนำสืบว่าได้กระทำการอันเป็นการชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว
การตรวจบัตรที่ต้องแสดงเมื่อนำรถออกอาจเป็นข้อเท็จจริงที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นหนี้ประการหนึ่งที่จำเลยต้องกระทำตามสัญญา ซึ่งอาจเป็นข้อสัญญาที่เกิดโดยการตกลงชัดแจ้งหรืออาจเป็นข้อที่ถือได้ว่าตกลงกันโดยปริยายก็ได้ แล้วแต่ความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไปในพฤติการณ์เช่นเดียวกันนั้น จึงอาจมีปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดนอกเหนือไปจากความรับผิดทางสัญญาก็ได้
การวินิจฉัยความประมาทเลินเล่อ คือ บุคคลผู้กระทำการอันใดก็ตามต้องทำด้วยความระมัดระวังตามควร และจะทำเพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่ได้ การควรไม่ควรและต้องทำจนตลอดไปแค่ไหนเพียงใด ถือตามระดับความคิดเห็นของวิญญูชนทั่วไปในภาวะ วิสัยและพฤติการณ์เช่นนั้น ตามนัย ป.อ. ม.59 วรรคสี่
กรณีเรื่องนี้จึงต้องอาศัยพฤติการณ์ของผู้จัดที่จอดรถให้ผู้ที่เข้ามา จะทำโดยเก็บเงินหรือไม่ก็ตาม ควรต้องพิจารณาว่าผู้จัดที่จอดรถระมัดระวังตรวจรถที่นำออกตามควรหรือไม่ เช่นที่โจทก์อ้างถึงความบกพร่องในการตรวจบัตรของลูกจ้างของจำเลย แต่ต้องเข้าใจว่าหน้าที่ใช้ความระวังในที่นี้ไม่ใช่ว่าต้องอาศัยสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยแต่ประการใด เป็นกรณีที่ต้องทำด้วยความระวังเพราะเหตุที่บุคคลเข้าทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต้องทำการนั้นด้วยความระมัดระวังตามควรและทำให้ตลอดดังกล่าวแล้ว โดยไม่ต้องมีสัญญาหรือฐานะผูกพันกันอยู่ก่อนแต่ประการใด หากขาดตกบกพร่องไปก็เป็นมูลความรับผิดฐานละเมิดได้
3. จากแนวความเห็นของ อ.จิตติ ดังกล่าว จึงมีการเปลี่ยนแนวการฟ้องจากสัญญาฝากทรัพย์มาเป็นฟ้องละเมิด ซึ่งศาลก็วินิจฉัยให้ว่าการที่รถหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของฝ่ายจำเลยหรือไม่ มีแนวคำพิพากษาฎีกา 2 คดี คือ คำพิพากษาฎีกาที่ 370/2540 วินิจฉัยว่าไม่เป็นการประมาทเลินเล่อ ไม่ต้องรับผิด และคำพิพากษาฎีกาที่ 4223/2542 วินิจฉัยว่าเป็นการประมาทเลินเล่อ ต้องรับผิด
4. มีข้อน่าสังเกตว่า นอกจากโจทก์จะฟ้องฐานละเมิดแล้ว โจทก์ยังโยงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยด้วยกันว่าเป็นนายจ้างลูกจ้าง หรือตัวการตัวแทนอีกด้วย
กรณีตามคำพิพากษาฎีกาที่ 370/2540 โจทก์ฟ้องบริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด ว่าลูกจ้างหรือตัวแทนของเดอะมอลล์กรุ๊ปทำละเมิด เดอะมอลล์กรุ๊ปต่อสู้ว่าลูกจ้างหรือตัวแทนไม่ได้กระทำละเมิด
ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่ 4223/2542 โจทก์ฟ้องบริษัทรักษาความปลอดภัยเป็นจำเลยที่ 1 ผู้ประกอบการเป็นจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยทั้งสองต่างต่อสู้คดีว่าไม่ได้เป็นนายจ้างลูกจ้างหรือตัวการตัวแทนของกันและกัน ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในส่วนนี้ว่า
“เป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้ผู้ไปใช้บริการที่ศูนย์การค้านั้นเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของหรือได้ร่วมกับเจ้าของศูนย์การค้าดังกล่าวมอบหมายให้จำเลยที่ 1 รวมทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าผู้มาใช้บริการแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการด้วยและโดยเฉพาะการให้บริการที่จอดรถยนต์ของศูนย์การค้าดังกล่าว”
“แม้จะปรากฏว่าผู้มาใช้บริการที่จอดรถจะเป็นผู้เลือกที่จอดรถยนต์เอง ดูแลปิดประตูรถยนต์และเก็บกุญแจรถยนต์ไว้เอง อีกทั้งที่ด้านหลังบัตรผ่านจะมีข้อความว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ ของรถยนต์ที่เกิดขึ้นไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่ต้องเสียค่าบริการก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวมาก็ย่อมทำให้ผู้ใช้บริการจอดรถโดยทั่วไปเข้าใจได้ว่าบริเวณลานจอดรดังกล่าวนั้นจำเลยทั้งสองและเจ้าของศูนย์การค้าจัดให้มีบริการรักษาความเรียบร้อยความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ที่จะนำเข้ามาจอดขณะเข้าไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 2 โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนรับดูแลความเรียบร้อยความปลอดภัยทั้งขณะที่จะนำรถยนต์เข้าจอดในอาคารและขณะที่จะนำรถยนต์ออกจากอาคาร”
และ “ซึ่งผู้ที่มิใช่เจ้าของรถยนต์และถือบัตรผ่านจะลักลอบนำรถยนต์ออกไปไม่ได้เลย เพราะจะมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยตรวจสอบก่อน การกระทำที่ปฏิบัติก่อน ๆ มาดังกล่าวของจำเลยทั้งสองย่อมเป็นการก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยทั้งสองต้องดูแลรักษาความเรียบร้อยและปลอดภัยแก่รถยนต์ที่นำเข้ามาจอดโดยพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ได้รับมอบหมายมีหน้าที่โดยตรงที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์นำรถยนต์ออกไปจากบริเวณที่จอด หรือป้องกันการโจรกรรมด้วยการตรวจบัตรตรงช่องทางออก ซึ่งหากมีการตรวจบัตรตรงช่องทางที่รถยนต์ออกโดยเคร่งครัดก็ยากที่รถยนต์ของ ส. จะถูกลักไปได้”
5. การวินิจฉัยในเรื่องตัวการตัวแทนข้างต้น เห็นได้ว่าศาลวินิจฉัยตามพฤติการณ์หรือการแสดงออกต่อบุคคลทั่วไปซึ่งอาจทำให้เข้าใจได้เช่นนั้น ตามนัยตัวแทนเชิดตามมาตรา 821 แม้ในความเป็นจริงจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยตามสัญญาจ้างทำของ ซึ่งในส่วนกรณีรถหายถ้าจะต้องรับผิดก็ควรต้องเป็นความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างแต่เพียงผู้เดียวก็ตาม แต่ศาลฎีกาคงดูว่าจะมีสัญญาจ้างทำของกันหรือไม่เป็นเรื่องของคู่สัญญาที่ต้องไปว่ากันเอง ส่วนโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้มาใช้บริการและเป็นผู้สุจริตไม่จำเป็นต้องรู้เห็นในนิติสัมพันธ์นั้นด้วยแต่อย่างใด
6. จากคำพิพากษาดังกล่าวจึงมีข้อสรุปได้ว่า ถ้าโจทก์ฟ้องเรื่องละเมิดโดยการกระทำอย่างใด ๆ จำเลยจะต้องต่อสู้ให้ได้ว่าได้กระทำด้วยความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์เพื่อป้องกันผลนั้นแล้ว ซึ่งเป็นประเด็นหลักในคดี ส่วนการต่อสู้ในเรื่องว่ามีสัญญาจ้างทำของกับบริษัทรักษาความปลอดภัย ซึ่งไม่เป็นตัวการตัวแทนจะไม่ใช่เป็นประเด็นหลัก
7. ข้อสังเกตตามคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 0000/0000 ของศาลแพ่ง
ประเด็นเรื่องความประมาทเลินเล่อ โจทก์ฟ้องถึงการกระทำที่อ้างว่าประมาทเลินเล่อเพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 1 ปล่อยให้บุคคลอื่นนำรถยนต์ของโจทก์ออกไปจากลานจอดรถ โดยมิได้ขอคืนบัตรจอดรถและมิได้ตรวจสอบหลักฐานความเป็นเจ้าของรถ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่กำหนดขึ้นเพื่อให้พนักงานรักษาความปลอดภัยปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการป้องกันการลักทรัพย์ เป็นการละเว้นหน้าที่เพื่อป้องกันการลักทรัพย์อันเป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของโจทก์ถูกลักไป
แนวการต่อสู้คดีในประเด็นนี้ต้องว่าไปตามข้อเท็จจริงของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งในขณะนี้เรายังไม่ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว และควรถือตามคำพิพากษาฎีกาที่ 370/2540 เป็นแนวทางด้วย ดังนี้
“จำเลยจัดอาคารที่จอดรถให้แก่ลูกค้า ผู้ที่นำรถเข้าไปจอดเป็นผู้หาที่จอดรถเองและเป็นผู้เก็บกุญแจไว้โดยไม่ต้องเสียค่าจอดแต่อย่างใด ส่วนการที่จำเลยจัดพนักงานไว้คอยฉีกหรือตรวจบัตรจอดรถยนต์ขณะที่นำรถยนต์ออกจากอาคารที่จอดรถของจำเลยนั้นเป็นเพียงมาตราการช่วยรักษาความปลอดภัยให้เท่านั้น ที่โจทก์อ้างว่าลูกจ้างของจำเลยปล่อยให้รถยนต์ออกจากอาคารที่จอดรถโดยไม่รับบัตรจอดรถคืนนั้น โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าลูกจ้างของจำเลยได้ปล่อยรถที่โจทก์รับประกันภัยออกไปโดยประมาทเลินเล่ออย่างไร แต่กลับได้ความจากพยานจำเลยว่า วันเกิดเหตุมีรถยนต์ขอออกจากอาคารที่จอดรถไปโดยไม่มีบัตรจอดรถยนต์รวม 3 คัน ลูกจ้างจำเลยได้บันทึกทะเบียนรถยนต์ บัตรประจำตัวผู้ขับขี่หรือบัตรประจำตัวประชาชนไว้แล้ว ไม่ปรากฏว่าได้ปล่อยรถคันที่โจทก์รับประกันออกไป แม้แต่ ว. พยานโจทก์ก็เบิกความรับว่า เคยขับรถเข้าไปจอดในห้างของจำเลยแล้วออกไปโดยไม่คืนบัตรจอดรถ ลูกจ้างของจำเลยไม่ยอมให้ออกจนกระทั่งต้องแสดงเอกสารเกี่ยวกับรถให้ดูจึงจะนำรถออกไปได้ แสดงว่าลูกจ้างของจำเลยได้ตรวจสอบและปล่อยรถไปถูกต้องตามระเบียบเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง มิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อดังที่โจทก์ฟ้อง จำเลยจึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์”
ประเด็นนิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลย โจทก์ฟ้องจำเลย 3 คน คือ จำเลยที่ 1 (พนักงาน รปภ.) ว่าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 (บริษัท รปภ.) ส่วนจำเลยที่ 3 (ห้าง) นั้น โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2546 จำเลยที่ 3 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ทำการรักษา………ของจำเลยที่ 3 (สาขา00) ซึ่งเป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าและมีลานจอดรถยนต์ไว้บริการแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการของจำเลยที่ 3 ด้วย โดยจำเลยที่ 2 ต้องจัดพนักงานรักษาความปลอดภัยเข้าปฏิบัติหน้าที่ในสาขาบางบอนตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินในบริเวณดังกล่าว รายละเอียดโจทก์จะได้นำเสนอต่อไปในชั้นพิจารณาคดี
และสรุปในตอนท้ายว่า จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยมาดูแลรักษาความปลอดภัยในบริเวณห้าง สาขา0000 จำเลยที่ 3 จึงเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของลูกค้าที่มาใช้บริการเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 3 จึงรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดอันเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ที่ได้กระทำไปในการที่มอบหมายให้กระทำการแทนนั้น
จากคำฟ้องดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่า โจทก์พยายามเลียนคำวินิจฉัยของศาลฎีกาในคดีที่ 4223/2542 ซึ่งในคดีนั้นโจทก์ฟ้องเพียงว่าเจ้าของห้างเป็นนายจ้างหรือตัวการของบริษัทรักษาความปลอดภัยเท่านั้น โดยไม่ได้อ้างว่ามีการว่าจ้างตามสัญญาจ้างกันแต่อย่างใด แต่คดีนี้โจทก์กลับอ้างถึงการว่าจ้าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 มีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาว่าจ้างให้ดูแลรักษาความปลอดภัย แม้จะกล่าวอ้างต่อมาว่าเป็นนิติสัมพันธ์อย่างตัวการตัวแทน อันเป็นข้อกฎหมายให้ศาลต้องวินิจฉัยว่านิติสัมพันธ์ระหว่างสยามแม็คโครกับบริษัทรักษาความปลอดภัยตามสัญญาว่าจ้างที่โจทก์กล่าวอ้างนั้น เป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างตัวการกับตัวแทนหรือเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของ ซึ่งผลของการรับผิดจะแตกต่างกัน กล่าวคือ
ถ้าเป็นตัวการตัวแทน ตัวการจะต้องรับผิดในผลละเมิดซึ่งตัวแทนได้กระทำไปในทางการที่มอบหมาย ตามมาตรา 427 ประกอบมาตรา 425
แต่ถ้าเป็นสัญญาจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างการการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง ตามมาตรา 428
8. เนื่องจากห้างมีประกันภัยกรณีรถหายไว้ จึงควรเรียกบริษัทประกันภัยให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อผลักภาระความเสี่ยงให้แก่บริษัทประกันภัยไป
จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา
๒ ความคิดเห็น:
ได้ความรุ้เรื่องกฎหมายดีจังค่ะ จะแวะเวียนมาอ่านบ่อยๆ
^^
น้องมิ้น เพื่อนน้องมิ้งค่ะ
โอ้พระเจ้าทอดกล้วย!!!
เค้าทำได้จริงๆซะด้วย
แสดงความคิดเห็น