หลักในเรื่องนี้ก็คือ การผิดสัญญามีสองประเภท ผิดสัญญาในสาระสำคัญกับไม่ใช่สาระสำคัญ ผลที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันดังนี้
-ถ้าผิดสัญญาในข้อที่เป็นสาระสำคัญแล้วอีกฝ่ายหนึ่งสามารถบอกเลิกสัญญาได้ทันที
-ถ้าผิดสัญญาที่ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญแล้วอีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถเลิกสัญญาได้ทันที แต่ต้องบอกกล่าวให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาแก้ไขการผิดสัญญาภายในระยะเวลาอันสมควรก่อนถ้าฝ่ายที่ผิดสัญญาไม่แก้ไข อีกฝ่ายหนึ่งจึงจะสามารถเลิกสัญญาได้
-ข้อสัญญาข้อใดจะเป็นสาระสำคัญนั้น อยู่ที่ลักษณะของสัญญาและตัวสัญญาเอง โดยสัญญาอาจจะกำหนดไว้เป็นตัวหนังสือเลยว่า ข้อสัญญาข้อนี้ข้อนี้เป็นสาระสำคัญ ถ้าคู่สัญญาฝ่ายผิดสัญญาข้อนี้ข้อนี้แล้วอีกฝ่ายหนึ่งสามารถบอกเลิกได้ทันที
-อย่างไรก็ตามถึงแม้สัญญาจะระบุไว้ว่าข้อสัญญาข้อนั้นเป็นสาระสำคัญแต่ถ้าโดยพฤติการณ์ที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันแล้วไม่ถือว่าเป็นสาระสำคัญ ดังนี้ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่สามารถบอกเลิกได้ เช่นสัญญาเช่าซื้อกำหนดว่าถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดจ่ายค่าเช่าซื้อล่าช้าแล้วให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที หรือให้ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกได้ แต่ถ้าโดยพฤติการณ์ถึงแม้ผู้เช่าซื้อจะชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าก็ตาม แต่ผู้ให้เช่าซื้อก็ยังรับไว้ตลอดมา ดังนี้ถือว่าข้อสัญญาข้อนี้ไม่ใช่สาระสำคัญแล้ว ถ้าต่อมาภายหลังผู้เช่าซื้อผิดนัดจ่ายค่าเช่าซื้ออีก ผู้ให้เช่าซื้อก็ไม่สามารถบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันที แต่ต้องบอกกล่าวให้ชำระภายในระยะเวลาอันสมควรก่อนจึงจะบอกเลิกได้
ฎีกาเรื่องการผิดสัญญาในสาระสำคัญ
2575/2546
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะระบุว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อไม่ว่างวดหนึ่งงวดใด ให้เจ้าของมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้โดยทันที และยินยอมให้เจ้าของทำการยึด และเข้าครอบครองรถยนต์นั้นก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาตั้งแต่งวดที่ ๒ ถึงที่ ๘ ซึ่งโจทก์ก็ยินยอมรับไว้ แม้โจทก์จะคิดค่าปรับแก่จำเลยที่ ๑ ในกรณีที่จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อทุกงวดที่ล่าช้าก็ตาม แต่หลังจากโจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาแล้ว โจทก์ยังยินยอมรับเงินค่าเช่าซื้องวดที่ ๗ และ ที่ ๘ พร้อมค่าปรับ พฤติการณ์ดังกล่าวของโจทก์แสดงว่าโจทก์มิได้ถือเอากำหนดระยะเวลาชำระค่าเช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวเป็นสาระสำคัญอีกต่อไป ดังนี้หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาก็จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดระยะเวลาพอสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๗ ทั้งก่อนที่โจทก์จะไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนก็ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ ๑ ทราบ จากนั้นจำเลยที่ ๑ ไปติดต่อขอรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน แสดงว่าจำเลยที่ ๑ โต้แย้งการยึดนั้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ต่างสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกัน เมื่อโจทก์ไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระงวดที่ ๙ ภายในกำหนดระยะเวลาพอสมควรดังบทบัญญัติดังกล่าว การที่โจทก์ไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาเพราะเหตุดังกล่าว และจำเลยที่ ๑ ก็โต้แย้งการยึด โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ ๑ ย่อมมีสิทธิเลิกสัญญาได้ เมื่อจำเลยที่ ๑ ใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๙๑ วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อแทนค่าปรับที่ได้รับไว้แก่จำเลยที่ ๑
2438/2545
โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ ๑ ก่อสร้างอาคารเรียน กำหนดเวลาส่งมอบงานและชำระค่าจ้างเป็นงวดรวม ๗ งวด จำเลยที่ ๑ ดำเนินการก่อสร้างและส่งมอบงานงวดที่ ๑ ถึงที่ ๔ ภายในกำหนดแก่โจทก์ โจทก์รับมอบงานและชำระค่าจ้างงวดที่ ๑ ถึงที่ ๓ ครบถ้วน ส่วนงวดที่ ๔ โจทก์ชำระค่าจ้างไม่ครบตามจำนวนที่ตกลงกัน โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญา แต่จำเลยที่ ๑ ก็มิได้บอกเลิกสัญญา หลังจากครบกำหนดเวลาก่อสร้างตามสัญญาแล้ว โจทก์ชำระค่าจ้างที่ค้างชำระในงวดที่ ๔ ให้แก่จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ยอมรับค่าจ้างดังกล่าว จากนั้นจำเลยที่ ๑ ก่อสร้างและส่งมอบงานงวดที่ ๕ และที่ ๖ โจทก์ก็ยอมรับมอบงานและชำระค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ ๑ ครบถ้วน แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ ๑ ยังคงปฏิบัติต่อกันตามสัญญาจ้างต่อไป โดยมิได้ถือเอากำหนดเวลาส่งมอบงานและชำระค่าจ้างเป็นงวดเป็นสาระสำคัญ แต่จำเลยที่ ๑ กลับดำเนินการก่อสร้างงานงวดที่ ๗ ไม่แล้วเสร็จก็ละทิ้งงานทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ ๑ จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
โจทก์และจำเลยที่ ๑ มีข้อตกลงกันว่า ในกรณีส่งมอบงานล่าช้าตามสัญญา จำเลยที่ ๑ ยอมให้โจทก์ปรับวันละ ๕,๙๔๖ บาท แต่เมื่อครบกำหนดเวลาก่อสร้างตามสัญญาจ้างแล้ว คู่กรณีโดยจำเลยที่ ๑ ไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าจ้างเป็นงวดเป็นสาระสำคัญ โจทก์ก็ไม่ถือเอากำหนดเวลาส่งมอบงานเป็นสาระสำคัญ ดังนี้ วันที่มีการส่งมอบงานล่าช้าจึงไม่มีอีกต่อไป โจทก์ไม่มีสิทธิปรับจำเลยที่ ๑ เป็นรายวัน คงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่เป็นค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นในการทำงานนั้นต่อให้เสร็จเท่านั้น
ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเป็นการเรียกค่าเสียหายเพื่อทดแทนความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๒ หากโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดจำนวนค่าเสียหายลงตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๓ เมื่อจำเลยที่ ๑ ละทิ้งงานงวดที่ ๗ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๘ โจทก์ควรรีบใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาทันทีเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น แต่โจทก์กลับปล่อยปละละเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๓๘ อันเป็นเวลาห่างกันเกือบ ๔ เดือน จากนั้นโจทก์เพิ่งมาทำสัญญาจ้างบุคคลภายนอกให้ก่อสร้างงานต่อในส่วนที่เหลือเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๐ หลังจากที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ ๑ แล้วถึง ๑ ปี ๕ เดือนเศษ โดยไม่ปรากฏเหตุผลแห่งความล่าช้า ดังนี้ ความล่าช้าที่เกิดขึ้นดังกล่าวย่อมทำให้ราคาค่าก่อสร้างสูงขึ้นและส่วนที่ก่อสร้างไปแล้วเกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้น เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากความล่าช้าในการดำเนินการของโจทก์โดยใช่เหตุรวมอยู่ด้วย ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดค่าเสียหายลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๓
1108/2544
โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเคยผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่เมื่อนำค่าเช่าซื้อที่ค้างไปชำระ จำเลยก็รับชำระโดยคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ย ต่อมาโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้ออีก จำเลยไปยึดรถคืน โจทก์นำเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างกับค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยไปชำระจำเลยก็รับชำระเช่นเดิม
แสดงว่า จำเลยไม่ได้ถือเอาข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อเรื่องการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่สิ้นสุด เมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างแล้วจำเลยต้องคืนรถที่เช่าซื้อแก่โจทก์ จำเลยไม่ยอมคืนจึงเป็นผู้ผิดสัญญาเช่าซื้อ
เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๙๑ วรรคหนึ่ง ซึ่งในส่วนของการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น ป.พ.พ. มาตรา ๓๙๑ วรรคสาม ให้ทำได้ด้วยการใช้เงิน เมื่อค่าใช้ทรัพย์ของโจทก์เป็นเงินน้อยกว่าค่าเช่าซื้อที่ต้องคืน ศาลจึงสามารถนำเงินค่าใช้ทรัพย์สินมาหักออกจากค่าเช่าซื้อที่ต้องคืนได้ โดยจำเลยไม่จำต้องฟ้องแย้งไว้
เมื่อโจทก์ไม่มีรถพอใช้งาน โจทก์สามารถรถอื่นมาทดแทนได้ หากต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ต้องเสียค่าเช่า ค่าเช่าที่โจทก์ต้องเสียไปถือเป็นค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยผิดสัญญา โจทก์เรียกให้จำเลยชดใช้ได้ การที่โจทก์ไม่ดำเนินการดังกล่าวจนงานล่าช้าและถูกปรับค่าปรับไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดจากจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยชดใช้ได้
2522/2543
โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินในโครงการของจำเลยโดยตกลงชำระเงินดาวน์เป็นงวด และชำระเงินส่วนที่เหลือกับจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ภายในกำหนด หรือภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่จำเลยแจ้งให้ทราบ ในประกาศโฆษณาของจำเลยระบุว่า จะจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกได้แก่ ถนนคอนกรีต ไฟฟ้าน้ำประปา สนามเด็กเล่น โทรศัพท์สายตรงโทรศัพท์สาธารณะและยามรักษาความปลอดภัยโจทก์ชำระเงินดาวน์แก่จำเลยแล้ว ต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือและไปจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์รวม ๒ ฉบับ โดยฉบับหลังระบุด้วยว่าหากโจทก์ไม่ชำระเงินภายในกำหนด ให้ถือว่าหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญา แต่โจทก์มิได้ชำระเงินส่วนที่เหลือภายในกำหนดเวลาที่จำเลยกำหนดทั้งสองครั้ง โดยโจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบถ้วนก่อน หรือให้จำเลยรับเงินส่วนที่เหลือโดยลดราคาลง แล้วจดทะเบียนโอนบ้านและที่ดินพิพาทแก่โจทก์ แสดงว่าขณะนั้นสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่ประกาศโฆษณา แม้ยังไม่ครบถ้วน แต่โจทก์ก็มิได้ถือเป็นสาระสำคัญจนถึงขนาดที่โจทก์ไม่อาจรับโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านหรือต้องลดราคาลงทั้งปรากฏว่า จำเลยจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ตามที่ประกาศโฆษณามาเป็นลำดับ และภายหลังจำเลยแจ้งให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือนานปีเศษ สิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเลยยังมิได้จัดให้มีตามประกาศโฆษณาคงมีเพียงโทรศัพท์สาธารณะกับสนามเด็กเล่นซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเท่านั้น นอกจากนี้ในเวลาที่มีการนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทโจทก์ยังไม่มีความพร้อมด้านการเงิน เมื่อโจทก์มิได้ชำระราคาส่วนที่เหลือตามที่ตกลงกัน การที่จำเลยไม่จดทะเบียนโอนบ้านและที่ดินพิพาทแก่โจทก์จะถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาย่อมมิได้
6874/2543
ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้รับประกันภัยการขนส่งอุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งโจทก์สั่งซื้อจากบริษัทมิตซูบิชิคอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ตามกรมธรรม์ประกันภัยให้ความคุ้มครองตั้งแต่สินค้าได้บรรทุกลงเรือที่ท่าเรือโกเบจนถึงปลายทางที่โครงการของโจทก์อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น สินค้าดังกล่าวบรรทุกมาโดยเรือเรียวว์ จากท่าเรือโกเบ เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม๒๕๓๔ สินค้ามาถึงท่าเรือของบริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด เมื่อวันที่ ๒๔มีนาคม ๒๕๓๔ แล้วขนถ่ายเก็บไว้ที่โรงพักสินค้าของท่าเรือ ต่อมาวันที่ ๒๕เมษายน ๒๕๓๔ จึงได้นำสินค้าออกจากโรงพักสินค้าไปที่โครงการของโจทก์อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น คณะกรรมการตรวจรับสินค้าพบว่าสินค้าหายไป ๑ หีบห่อ เป็นเครื่องอุปกรณ์ควบคุมการทำงานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าซึ่งมีน้ำหนักประมาณ ๒,๓๐๐ กิโลกรัม และยังปรากฏว่าสินค้าของโจทก์คงเหลือตกค้างที่โรงพักสินค้า ๑ หีบห่อ แต่ไม่ใช่สินค้าที่สูญหายไป
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่าทรัพย์ที่เอาประกันภัยไว้สูญหายไป ๑ หีบห่อหรือไม่
โจทก์มีนางกาญจนาชาญสมร นายไพโรจน์ อยู่จ่าย นางเยาวมาลย์ วีระพันธ์ และนายสิทธิชัยทรงลิลิตชูวงษ์ ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่โจทก์สั่งซื้อเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า โจทก์ได้สั่งซื้อสินค้าจำพวกอุปกรณ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพองจากบริษัทมิตซูบิชิคอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้จัดส่งสินค้าบรรทุกมาโดยเรือเรียวว์ตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมายจ.๔ และใบตราส่งเอกสารหมาย จ.๕ และ จ.๖ จำเลยได้รับประกันภัยการขนส่งทางทะเลสินค้าดังกล่าวไว้ตามกรมธรรม์เอกสารหมาย จ.๓ต่อมาสินค้าได้นำขึ้นที่ท่าเรือบางปะกอก ซึ่งเป็นท่าของบริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด เพื่อนำสินค้าเข้าเก็บที่โรงพักสินค้าชั่วคราว และโจทก์ได้ทำพิธีการทางศุลกากร หลังจากนั้นโจทก์ได้นำหลักฐานการชำระภาษีใบตราส่ง ใบกำกับสินค้า และบัญชีรายละเอียดของสินค้าไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่ท่าเรือเพื่อออกสินค้า เจ้าหน้าที่ท่าเรือได้ออกใบรับรองตามเอกสารหมาย จ.๗ ให้แก่โจทก์ ซึ่งใบรับรองระบุว่ามีสินค้าจำนวน๖๔ หีบห่อ เมื่อโจทก์จะนำสินค้าออก เจ้าหน้าที่โรงเก็บสินค้าได้ออกใบกำกับสินค้าตามจำนวนสินค้าที่จะนำออก ตามเอกสารหมาย จ.๑๕ระบุว่ามีสินค้าเพียง ๖๓ หีบห่อ เมื่อมีการขนย้ายไปยังโครงการของโจทก์ที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จึงได้ตั้งกรรมการตรวจรับ พบว่าสินค้าหายไป ๑ หีบห่อ คืออุปกรณ์ควบคุมการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมายเลข ๑ บี - ไอเอ็ม ๐๑ - ๕ ซึ่งสินค้าดังกล่าวมีน้ำหนักประมาณ ๒,๓๐๐ กิโลกรัม โจทก์สั่งซื้อสินค้าดังกล่าวมาทดแทนแล้วในราคาประมาณ ๒,๔๐๐,๐๐๐ บาท
ส่วนจำเลยนำสืบว่า สินค้าที่โจทก์สั่งซื้อมาดังกล่าวครบถ้วนมิได้สูญหาย แต่เป็นความสับสนของโจทก์เองที่ได้ส่งสินค้าสลับกันไปตามโรงไฟฟ้าต่าง ๆ และยังมีสินค้าของโจทก์ตกค้างอยู่ที่โรงพักสินค้าอีก ๑ หีอห่อ
เห็นว่า เจ้าหน้าที่ท่าเรือได้ออกเอกสารใบรับรองตามเอกสารหมาย จ.๗ ระบุสินค้าจำนวน ๖๔ หีบห่อ ใบรับของตามเอกสารหมาย จ.๗ ระบุสินค้าจำนวน ๖๔ หีบห่อ คือตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.๕ จำนวน ๑๑ หีบห่อ และใบตราส่งเอกสารหมาย จ.๖จำนวน ๕๓ หีบห่อ ซึ่งรวมถึงสินค้าที่หายไปคือหีบห่อหมายเลข ๑ บี -ไอเอ็ม ๐๑ - ๕ ตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.๔ และใบตราส่งเอกสารหมาย จ.๕ การที่เจ้าหน้าที่ท่าเรือได้ออกใบรับรองตามเอกสารหมาย จ.๗ ระบุสินค้าจำนวน ๖๔ หีบห่อ แสดงว่าได้มีการขนถ่ายสินค้าขึ้นมาจากเรือพักไว้ที่โรงพักสินค้าครบถ้วนเรียบร้อย ครั้นเมื่อนำสินค้าออกจากโรงพักสินค้า เจ้าหน้าที่ได้ออกใบกำกับสินค้า ตามเอกสารหมาย จ.๑๕มีสินค้าเพียง ๖๓ หีบห่อ ทั้งสินค้าที่ตกค้างอยู่ที่โรงพักสินค้าก็เป็นเพียงอุปกรณ์แผ่นเหล็กประมาณ ๑๕ แผ่น น้ำหนัก ๒๖๐ กิโลกรัม คนละชนิดกับสินค้าที่โจทก์นำสืบว่าสูญหาย และไม่ได้ความว่ามีการส่งผิดไปยังโรงไฟฟ้าอื่นแต่ประการใด ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่า สินค้าของโจทก์ได้สูญหายระหว่างการขนส่งหรือระหว่างที่เก็บไว้ที่โรงพักสินค้า ๑ หีบห่อ คือหีบห่อหมายเลข๑ บี - ไอเอ็ม ๐๑ - ๕
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า โจทก์มีส่วนผิดสัญญาประกันภัยหรือไม่
โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้เรียกร้องจากผู้ขนส่งในทันทีในกรณีที่หีบห่อหายไป และมิได้ยื่นคำขอให้ผู้แทนผู้ขนส่งทำการสำรวจทันทีโดยแจ้งคำบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังผู้ขนส่งภายใน ๓ วัน นับแต่วันรับมอบสินค้า ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย
เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า โจทก์แจ้งเรื่องสินค้าสูญหายล่าช้าไปหลายเดือน ก็ได้ความว่าเกิดขึ้นเนื่องจากกระบวนการตรวจสอบว่าสินค้าได้สูญหายไปจริงหรือไม่เมื่อตรวจสอบว่าสินค้าได้สูญหายไปจริงโจทก์ก็ได้แจ้งให้ผู้ขนส่งและจำเลยทราบทันทีโดยนางกาญจนา ชาญสมร พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า เมื่อโจทก์พบว่าหีบห่อสินค้าสูญหายไป ก็ได้แจ้งเรียกร้องค่าเสียหายไปยังจำเลยและผู้ขนส่งตามเอกสารหมาย จ.๑๐ แผ่นที่ ๑ ถึง ๕
จำเลยอ้างเพียงว่าไม่มีหลักฐานสินค้าสูญหายเท่านั้น นอกจากนี้นางเยาวมาลย์ วีระพันธุ์ พยานโจทก์ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามติงว่า จำเลยไม่เคยปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างเหตุที่โจทก์ไม่ได้แจ้งความเสียหายให้ทราบภายในกำหนด ข้อนี้นางพิไล คล่องพิทยาพงศ์ อดีตหัวหน้าสินไหมภัยทางทะเลของจำเลย มีหน้าที่พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้แก่ผู้เอาประกันภัยก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เหตุที่จำเลยไม่จ่ายค่าสินค้าสูญหาย เพราะโจทก์ไม่มีหลักฐานว่าสินค้าสูญหาย กับจำเลยไม่สามารถรับช่วงสิทธิจากผู้ทำละเมิดได้
จากพฤติการณ์ดังกล่าว แสดงว่าจำเลยมิได้ถือเอาข้อกำหนดเงื่อนไขตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวเป็นข้อสาระสำคัญให้โจทก์ปฏิบัติตามข้อกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่มีส่วนผิดตามสัญญาประกันภัย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า ค่าเสียหายมีเพียงใด ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบและจำเลยมิได้โต้แย้งฟังได้ว่าโจทก์ต้องซื้อสินค้ามาทดแทนสินค้าที่หายในราคา ๒,๔๐๔,๙๕๘.๑๙ บาทซึ่งเป็นราคาที่อยู่ภายในวงเงินที่เอาประกันภัย เมื่อฟังว่าจำเลยต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยที่ ๑ ต้องชำระค่าสินไหมทดแทนตามราคาสินค้าดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๓๖ ซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไป
1138/2542
แม้จำเลยจะได้แสดงสวนหย่อมไว้ในใบโฆษณาและอาคารจำลองก็ตาม แต่เมื่อปรากฎว่าอาคารทุกหลังในโครงการที่จำเลยเสนอขายนี้ได้ตอกเสาเข็มไว้แล้วก่อนเปิดขาย มีเสาเข็มหลังละประมาณ ๒๐๐ ต้น แต่ละต้นเหลือส่วนบนโผล่พ้นดินประมาณ ๒ เมตร และโจทก์รู้เห็นว่าจะมีการก่อสร้างอาคารตรงที่ระบุว่าเป็นสวนหย่อม ทั้งโจทก์รับมอบห้องชุดจากจำเลยหลังทำสัญญาจะซื้อจะขาย ๒ ปีเศษอาคารชุดที่พิพาทก่อสร้างไปได้ ๓ ชั้นแล้ว การที่โจทก์รู้เห็นการก่อสร้างอาคารชุดที่พิพาทมาโดยตลอด แต่โจทก์ก็ยังคงเข้าทำสัญญาและติดต่อปฏิบัติตามสัญญาตลอดมาแสดงว่าโจทก์หาได้ถือว่า การจะมีสวนหย่อมหน้าอาคารชุดหลังที่โจทก์จะซื้อห้องชุดหรือไม่ ย่อมไม่เป็นสาระสำคัญ เมื่อจำเลยมิได้ผิดสัญญา โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา
1039/2541
สัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุด ระบุวันเดือนปีในการชำระเงินมัดจำไว้ ๖ งวด เริ่มงวดแรกวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๓ งวดสุดท้ายวันที่ ๑๕สิงหาคม ๒๕๓๓ ส่วนที่เหลือ ๓๕๘,๘๐๐ บาท กำหนดชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ และหมายเหตุว่าโอนกันเดือนพฤศจิกายน ตามข้อสัญญาดังกล่าวได้กำหนดเวลาในการชำระหนี้และโอนกรรมสิทธิ์ไว้แล้ว ผู้จะซื้อย่อมบอกเลิกสัญญาได้เลยตาม ป.พ.พ.มาตรา ๓๘๘ การที่ผู้จะซื้อปล่อยเวลาไว้นานเกือบ ๕ ปี จึงบอกเลิกสัญญา และขอมัดจำคืนก็มิใช่กรณีที่คู่สัญญาผู้จะซื้อจะขายมิได้ถือเอาระยะเวลาเป็นสาระสำคัญในการชำระหนี้ การเลิกสัญญาจึงมิต้องบอกกล่าวให้ชำระหนี้ตาม มาตรา ๓๘๗ การที่จำเลยผู้จะขายมีปัญหากับบริษัท ท.ผู้รับจำนอง แล้วโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้โจทก์ตามสัญญาไม่ได้ เป็นความผิดของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว แม้โจทก์มิได้ดำเนินการอย่างไร จะถือว่าโจทก์ผ่อนเวลาให้จำเลยไม่ได้ เมื่อจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้โจทก์ได้ตามกำหนดเวลาในสัญญา จึงถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญาต่อโจทก์แล้ว
หนังสือนัดโอนห้องชุดที่จำเลยมีไปถึงโจทก์หลังจากจำเลยไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้โจทก์ตามวันที่กำหนดไว้ในสัญญา เป็นการกระทำของจำเลยหลังจากที่กำหนดเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์แล้ว หนังสือที่จำเลยนัดให้โจทก์มารับโอนห้องชุดพิพาทหลังจากจำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์แล้วย่อมไม่มีผลทำให้โจทก์กลับมาเป็นผู้ผิดสัญญาแทนจำเลยไปได้
448/2540
ศาลนัดสืบพยานจำเลยนัดแรกตั้งแต่วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๓๖และได้มีการเลื่อนสืบพยานจำเลย ๕ ครั้ง ในจำนวนนี้มีอยู่ครั้งเดียวที่ขอเลื่อนคดีเพราะเหตุที่โจทก์อ้างว่าไม่ได้เตรียมผู้รู้ภาษาจีนกลางมาควบคุมการแปลของล่ามฝ่ายจำเลย นอกจากนั้นที่จำเลยขอเลื่อนคดีมีสาเหตุมาจากฝ่ายจำเลยทั้งสิ้นโดยเฉพาะการเลื่อนคดีครั้งที่ ๕ ศาลได้กำชับว่านัดต่อไปให้จำเลยเตรียมพยานมาให้พร้อม แต่เมื่อถึงวันนัดสืบพยานจำเลยครั้งที่ ๖ จำเลยขอเลื่อนคดีอีก อ้างว่าพยานได้เดินทางมาในประเทศไทยแล้ว แต่ได้รับโทรสารว่าที่บ้านของพยานที่ต่างประเทศมีเรื่องด่วนให้รีบกลับ พยานจึงเดินทางกลับต่างประเทศ การสืบพยานในคดีไม่ว่าจะมีการสืบปากเดียวหรือหลายปาก และทุนทรัพย์ไม่ว่ามากหรือน้อยอยู่ที่ว่าคู่ความเอาใจใส่ที่จะสืบเพียงใด คดีนี้แม้จำเลยจะแถลงว่าสืบพยานปากเดียวแต่ขอเลื่อนคดีหลายครั้งเป็นเวลาหลายเดือน จนศาลต้องกำชับให้เตรียมพยานมาให้พร้อม แต่จำเลยก็ไม่สนใจและไม่เห็นความสำคัญในการดำเนินคดีให้เสร็จไปโดยรวดเร็ว พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการประวิงคดี ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและถือว่าไม่มีพยานมาสืบชอบแล้ว
จำเลยให้การต่อสู้เรื่องฟ้องเคลือบคลุมเป็น ๒ ตอน ในตอนแรกอ้างว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดว่าจำเลยได้ชำระเงินต้นเท่าใด มีการชำระเงินกันอย่างไรนั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้ผ่อนชำระให้โจทก์หลายครั้งแต่ไม่ตรงตามสัญญา และครั้งสุดท้ายชำระเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๓๔ พร้อมกับแนบรายละเอียดบัญชีเงินกู้ลูกหนี้มาท้ายฟ้องด้วย การบรรยายฟ้องเช่นนี้และมีเอกสารแนบมาท้ายฟ้องประกอบด้วยรายการชำระหนี้และยอดค้างชำระ นับว่าเป็นการแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาแล้ว และในตอนที่สองจำเลยอ้างว่าโจทก์มิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าบริษัท ท.ได้แจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อใด และแจ้งว่าจำเลยได้ปฏิบัติผิดสัญญาอย่างไรโจทก์รับผิดชอบตามหนังสือค้ำประกันอย่างไรนั้น ข้ออ้างดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับคู่สัญญาที่จำเลยต้องรับผิดสำหรับโจทก์เพียงแต่เป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันต่อคู่สัญญาของจำเลยตามที่จำเลยขอ และโจทก์ใช้เงินให้ไปเช่นนี้ ความสัมพันธ์ตลอดจนการผิดสัญญาของจำเลยกับคู่สัญญา โจทก์ไม่จำต้องบรรยายในคำฟ้องเพียงแต่บรรยายให้เห็นถึงความรับผิดของจำเลยต่อโจทก์นับว่าเป็นการชัดแจ้งเพียงพอที่จำเลยจะต้องเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
สัญญากู้ได้กระทำกันเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๓๓ กำหนดให้จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ ๔๘ งวด งวดละเดือน จำเลยไม่ได้ผ่อนชำระตามกำหนดในสัญญา ซึ่งถือว่าจำเลยผิดนัด แต่หลังจากนั้นเมื่อจำเลยชำระหนี้ให้โจทก์บ้างบางส่วน โจทก์ได้รับชำระหนี้ทุกครั้งที่จำเลยชำระ ต่อมาวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๕โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาและกำหนดให้จำเลยชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน ๑๕ วันแต่จำเลยไม่ชำระ ดังนี้ การที่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ถือว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตามที่คู่สัญญาได้กำหนดไว้ แต่ที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้ภายหลังที่จำเลยผิดสัญญาแล้ว จะถือว่าโจทก์ไม่ถือเอาเงื่อนเวลาในการชำระหนี้เป็นสาระสำคัญหรือสละเงื่อนเวลานั้นจำเลยไม่มีพยานมาสืบให้เห็นว่าเป็นอย่างที่จำเลยอ้าง ทั้งตามข้อตกลงในสัญญาเงินกู้ก็ระบุว่าการไม่ดำเนินการหรือความล่าช้าในการดำเนินการใช้สิทธิของผู้ให้กู้คือโจทก์มิได้แสดงว่าโจทก์สละสิทธิตามที่ระบุไว้ในสัญญา จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ถือเงื่อนเวลาในการชำระหนี้เป็นสาระสำคัญและสละเงื่อนเวลาอันจะถือว่าจำเลยไม่ผิดสัญญา เมื่อจำเลยผิดสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินกู้คืนได้
ที่จำเลยฎีกาว่าการค้ำประกันและการขยายระยะเวลาค้ำประกันรายนี้มิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือใช้บังคับไม่ได้นั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ ทั้งยังรับว่าได้มีการค้ำประกันจริง แต่โต้แย้งว่ามิได้ขยายระยะเวลาค้ำประกันเท่านั้นจำเลยจึงไม่มีสิทธิจะโต้แย้งในชั้นฎีกาว่าการค้ำประกันมิได้ทำเป็นหนังสือจำเลยขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันให้โดยจำเลยรับรองว่าเมื่อโจทก์ได้รับแจ้งว่าจำเลยผิดนัด จำเลยยอมให้โจทก์ชำระเงินได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบ ดังนั้นเมื่อโจทก์ชำระหนี้ให้แก่บริษัท ท.แทนจำเลยไปแล้วแม้จะไม่ได้บอกให้จำเลยทราบก่อน โจทก์ก็มีสิทธิไล่เบี้ยจากจำเลย
3753/2540
ตามสัญญากู้ยืม จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่จะต้องชำระดอกเบี้ยของเงินกู้ที่เบิกไปจากโจทก์ทุกวันทำการสิ้นเดือนของทุกเดือน หากผิดนัดชำระเงินงวดหนึ่งงวดใด ถือว่าจำเลยที่ ๑ ผิดนัดในจำนวนหนี้ทั้งหมดโดยหนี้ทั้งหมดตามสัญญาเป็นอันถึงกำหนดชำระทันที โดยโจทก์ไม่ต้องแจ้งให้ทราบก่อน ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ไม่ตรงตามกำหนดในสัญญากู้ยืม แต่โจทก์ยอมรับชำระดอกเบี้ยของจำเลยที่ ๑ โดยไม่ได้ทักท้วงว่าจำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนด-สัญญา พฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยที่ ๑ ปฎิบัติต่อกันโดยมิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเป็นสาระสำคัญ จึงถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ ๑ ต่างระงับข้อสัญญาเกี่ยวกับการชำระดอกเบี้ยล่าช้าเป็นการผิดนัดผิดสัญญาแล้ว
แต่ต่อมาเมื่อจำเลยที่ ๑ ยังมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงได้มีหนังสือขอให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนอง โดยจำเลยที่ ๑ในฐานะผู้กู้และผู้จำนอง จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในฐานะผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับดังกล่าว จึงเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองไปด้วยในคราวเดียวกันแล้ว เมื่อจำเลยที่ ๑ ค้างชำระดอกเบี้ยและโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ ๑ชำระหนี้ดังกล่าว ครบกำหนดแล้วจำเลยที่ ๑ เพิกเฉย ต้องถือว่าจำเลยที่ ๑ผิดนัดผิดสัญญาในจำนวนหนี้ทั้งหมดและโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์
ตามสัญญากู้ จำเลยที่ ๑ ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ ๑๓ ต่อปี และอาจเปลี่ยนแปลงได้บวกด้วยอัตราร้อยละ ๑ ต่อปีและหากจำเลยที่ ๑ ผิดนัดชำระต้นเงินและดอกเบี้ย จำเลยที่ ๑ ยอมเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ที่ค้างชำระในอัตราสูงสุดตามที่ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปรากฏว่าตามประกาศดังกล่าวเรียกได้ไม่เกินอัตราร้อยละ ๒๑ ต่อปี ดังนี้เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ ๑ ตามจำนวนเงินกู้หลังจากที่ผิดสัญญาได้ในอัตราร้อยละ ๒๑ ต่อปี
3941/2540
สัญญาเช่าซื้อข้อ ๖ ระบุว่า "หากผู้เช่าซื้อฝ่าฝืน หรือผิดสัญญานี้ข้อหนึ่งข้อใดถือว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญา ผู้เช่าซื้อยอมให้ผู้ให้เช่าซื้อริบเงินค่าเช่าซื้อที่ส่งมาแล้วทั้งหมดได้ทันทีโดยมิต้องบอกกล่าวให้ทราบแต่ประการใดทั้งสิ้น และถือว่าสัญญาเช่าซื้อฉบับนี้เป็นอันระงับสิ้นสุดลงทันที" แต่ตามที่ปฏิบัติต่อกันจำเลยทั้งสองมิได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ในวันที่ ๕ ของเดือน และหลายงวดชำระครั้งหนึ่งก็มี ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้มีเจตนาที่จะถือเอากำหนดเวลาเป็นสาระสำคัญ ดังนั้นในงวดต่อมาแม้จำเลยทั้งสองจะไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามที่กำหนดไว้ในสัญญา สัญญาเช่าซื้อก็ยังไม่ระงับสิ้นสุดลงทันที โจทก์จะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่ก่อน โจทก์จึงจะบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๓๘๗
การที่จำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เนื่องจากปรากฏว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทที่จำเลยทั้งสองเช่าซื้อ จำเลยทั้งสองอาจไม่ได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทนั้นแม้ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขเกี่ยวกับการชำระเงินโดยครบถ้วน ทั้งเจ้าของที่ดินพิพาทก็ประกาศให้จำเลยทั้งสองทราบด้วยว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ ซึ่งจำเลยทั้งสองอาจถูกฟ้องขับไล่เมื่อใดก็ได้ เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทกลับคืนมา จำเลยทั้งสองเตรียมเงินค่าเช่าซื้อที่ค้าง ๔๙,๐๐๐ บาท ไปชำระให้แก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมรับโดยจะขอคิดดอกเบี้ยและค่าบริการเพิ่มอีกรวมแล้วเป็นเงินประมาณ ๑๓๐,๐๐๐ บาท นั้น ถือได้ว่าเป็นกรณีการชำระหนี้ยังมิได้กระทำลงเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยทั้งสองผู้เป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตามป.พ.พ.มาตรา ๒๐๕ จำเลยทั้งสองจึงมิได้ผิดนัดและผิดสัญญาเช่าซื้อ
4312/2540
ตามบันทึกข้อต่อท้ายสัญญามีข้อความระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การชำระเงินงวดสุดท้ายชำระในวันที่โจทก์ทำการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลย โดยโจทก์จะพาจำเลยไปจดจำนองกู้เงินจากธนาคาร ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องพาจำเลยไปจดทะเบียนจำนองกู้เงินจากธนาคารตามสัญญา เมื่อโจทก์เพียงแต่แนะนำให้จำเลยไปติดต่อกับธนาคารเพื่อขอกู้เงินจากธนาคารมาชำระหนี้ค่าซื้ออาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินรายพิพาทเท่านั้น โดยโจทก์ไม่ได้เป็นผู้พาจำเลยไปจดจำนองกู้เงินจากธนาคารเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาตามบันทึกข้อต่อท้ายสัญญาดังกล่าวอีกทั้งโจทก์ได้นัดหมายให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินรายพิพาทที่สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี ในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๔ โดยให้จำเลยชำระเงินส่วนที่เหลือจำนวน ๔๒๐,๗๕๐ บาท ในวันดังกล่าวด้วย ซึ่งจำเลยก็ได้ไปที่สำนักงานที่ดินตามนัด และได้ทำบันทึกโต้แย้งว่าจำนวนเงิน ๔๒๐,๗๕๐ บาท นั้นโจทก์ต้องเป็นผู้จัดการนำอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินเข้าจำนองแก่ธนาคารให้จำเลยแสดงว่าจำเลยถือเอาข้อสัญญาตามบันทึกข้อต่อท้ายสัญญาเป็นข้อสาระสำคัญในการทำสัญญาซื้ออาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินรายพิพาทจากโจทก์ แม้จำเลยนำอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินรายพิพาทไปจดจำนองกู้เงินจากธนาคารเอง และขอยืมจากผู้อื่นเพื่อชำระให้แก่โจทก์ก็ตาม ก็เป็นเพราะจำเลยต้องการจะได้กรรมสิทธิ์ในอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินรายพิพาทและกลัวว่าจะถูกโจทก์ยึดไปเท่านั้น จะถือว่าจำเลยสละข้อสัญญาดังกล่าวหาได้ไม่ จำเลยจึงมิใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินกับโจทก์โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและฟ้องขับไล่กับเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
5565/2540
แม้หนังสือสัญญาว่าจ้างทำเฟอร์นิเจอร์ฉบับพิพาทจะได้กำหนดให้ทำเฟอร์นิเจอร์ส่งมอบแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๒ แต่ต่อมาโจทก์ในฐานะผู้รับจ้างกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างก็ได้ตกลงเลื่อนกำหนดวันส่งมอบงานออกไปเป็นให้ส่งมอบงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๓๓ แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ ๑ มิได้ถือเอากำหนดเวลาตามสัญญาเดิมเป็นสาระสำคัญอีกต่อไป ดังนั้นจำเลยที่ ๑ จะอ้างว่าโจทก์ส่งมอบงานล่าช้าโดยถือว่าโจทก์ผิดสัญญาก่อนวันที่ ๕สิงหาคม ๒๕๓๓ หาได้ไม่
โจทก์ได้ตกลงทำสัญญากับจำเลยที่ ๑ แล้วว่าหากทำไม่แล้วเสร็จภายในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๓๓ ก็จะยอมให้ปรับ โดยจำเลยที่ ๑ ยินยอมให้ผ่อนผันโดยไม่ทักท้วง พฤติการณ์แสดงว่าข้อสัญญาที่เกี่ยวกับการส่งมอบล่าช้าหรือไม่แล้วเสร็จตามสัญญาเดิมคู่สัญญาต่างมีเจตนาระงับกันไปโดยไม่ถือว่าเป็นการผิดนัดผิดสัญญาอีกต่อไปจนกว่าจะล่วงพ้นวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๓๓ ดังนี้ เมื่อโจทก์ส่งมอบงานให้แก่จำเลยที่ ๑ ครบถ้วนทั้งหมดแล้วในวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๓๓ ล่าช้าไปจากวันที่ ๕สิงหาคม ๒๕๓๓ เป็นระยะเวลา ๓๕ วัน ซึ่งจำเลยที่ ๑ ก็มิได้โต้แย้ง เท่ากับว่าโจทก์ผิดสัญญาเพียง ๓๕ วัน ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดปรับรายวันรวม ๓๕ วันมาจึงชอบแล้วเบี้ยปรับถือเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาชดใช้แก่ฝ่ายที่มิได้ผิดสัญญา แต่ก็มิได้บังคับโดยเด็ดขาดว่าจะต้องเป็นไปตามข้อตกลงศาลอาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับลงได้
7523/2540
จำเลยที่ ๑ ได้ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ ๑ ถึงงวดที่ ๙เรียงลำดับมา แม้ทุกงวดจะชำระไม่ตรงเวลา แต่โจทก์ก็รับไปโดยไม่มีข้อโต้แย้งแสดงว่าในทางปฏิบัติคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ จึงไม่ถือว่าการชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงเวลาเป็นการผิดสัญญา เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อครั้งสุดท้ายงวดที่ ๙ เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ แต่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ ห่างจากวันชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายเพียง๑๙ วัน เป็นการยึดรถคืนโดยไม่มีสิทธิจะกระทำได้ นอกจากนี้ตามสัญญาเช่าซื้อยังได้ตกลงไว้ว่า ในกรณีผู้เช่าไม่ใช้เงินค่าเช่าสองงวดติด ๆ กัน เมื่อโจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวแล้ว แต่ผู้เช่าละเลยไม่ปฏิบัติตามภายในกำหนด ๓๐ วัน ผู้เช่ายอมให้เจ้าของมีสิทธิบอกเลิกการเช่าและริบเงินที่ได้รับชำระแล้วและกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินได้ทันที อีกทั้งโจทก์ก็ยอมรับว่าโจทก์ต้องมีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อภายใน ๓๐ วัน ก่อนจึงจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญา แต่โจทก์มิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติการชำระค่าเช่าซื้อภายใน๓๐ วัน กลับมีหนังสือบอกเลิกสัญญาทันที การบอกเลิกสัญญาโดยผิดข้อตกลงเช่นนี้จึงไม่ชอบ
การที่โจทก์ยึดรถที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๔โดยจำเลยที่ ๑ ไม่ได้โต้แย้งเสียภายในเวลาอันสมควร จำเลยที่ ๑ เพิ่งมาโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิยึดรถหลังจากถูกโจทก์ฟ้องและโจทก์ได้ยึดรถไปแล้ว ๑ ปีเศษ จึงเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ ๑ ต่างสมัครใจที่จะเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถคืน คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๓๙๑ วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้รับรถคืนแล้ว โจทก์จึงต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ ๑ ชำระแล้วแก่จำเลยที่ ๑ แต่การที่จำเลยที่ ๑ ครอบครองรถที่เช่าซื้อตั้งแต่วันทำสัญญาถึงวันที่โจทก์ยึดรถคืน โจทก์ย่อมขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ จำเลยที่ ๑ จึงต้องชดใช้ค่าใช้ทรัพย์แก่โจทก์ตามป.พ.พ.มาตรา ๓๙๑ วรรคสาม
รถที่โจทก์ยึดคืนปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้ต่อตัวถังเหล็กพร้อมดั๊มเป็นเงิน ๒๒๐,๐๐๐ บาท และก่อนทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จำเลยที่ ๑ ได้ชำระเงินดาวน์แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.ไปแล้ว เป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ถือได้ว่าเป็นการงานอันได้กระทำให้ เพราะเมื่อโจทก์ยึดรถคืนมาย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์กล่าวคือ ตัวถังเหล็กพร้อมดั๊มเป็นส่วนประกอบของรถ ส่วนเงินดาวน์ก็เป็นส่วนหนึ่งของราคารถ โจทก์จึงต้องใช้คืนแก่จำเลยที่ ๑ ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๓๙๑ วรรคสามแต่การที่จำเลยที่ ๑ ต่อตัวถังเหล็กพร้อมดั๊มก็ดี ชำระเงินดาวน์ก็ดี ย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ ๑ อยู่ด้วยในการที่นำรถไปใช้รับจ้างบรรทุกสิ่งของเป็นเวลาถึง ๑๕ เดือนซึ่งรถย่อมมีการเสื่อมสภาพลง จึงต้องหักค่าเสื่อมราคาของรถออกเสียก่อน
ส่วนค่าเสียหายอย่างอื่นที่ต่างฝ่ายต่างเรียกร้องนั้น เมื่อสัญญาเช่าซื้อมิได้เลิกกันเพราะความผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายจึงต่างไม่มีสิทธิเรียกให้อีกฝ่ายชำระ
เมื่อโจทก์และจำเลยที่ ๑ ต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันที่จะต้องชำระหนี้เงินเป็นอย่างเดียวกัน และต่างฟ้องอีกฝ่ายหนึ่งให้รับผิดซึ่งศาลรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน ดังนั้น เพื่อความสะดวกในการบังคับคดี ศาลฎีกาจึงให้หักกลบลบหนี้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันตาม ป.พ.พ.มาตรา ๓๔๑ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่จำเลยที่ ๑ ยื่นฟ้องโจทก์เป็นต้นไป
7809/2540
ฎีกาโจทก์ที่ว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินเพียง ๔๖,๐๐๐ บาท น้อยเกินไป ควรจะเป็นเงินจำนวนไม่น้อยกว่า๔๔๖,๐๐๐ บาท ปรากฏว่าในชั้นอุทธรณ์โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในข้อนี้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๒๔๙วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยทำงานล่วงเลยเวลาที่กำหนดไว้ แต่โจทก์ยอมรับเอาผลงานและชำระเงินให้จำเลยโดยดี โดยงานที่จำเลยทำส่วนใหญ่สมบูรณ์ มีความชำรุดบกพร่องเพียงเล็กน้อย ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยได้ทำงานที่จ้างให้โจทก์เสร็จแล้ว
ตามสัญญาจ้างเหมาฉบับพิพาทมีข้อความว่า ผู้รับจ้างต้องทำงานรายนี้ให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในกำหนด ๑๘๐ วัน นับแต่วันที่ปรากฏในสัญญานี้เป็นต้นไปถ้าหากไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดนี้ผู้รับจ้างยินยอมให้ผู้ว่าจ้างปรับเป็นรายวันจนกว่าผู้รับจ้างจะทำงานรายนี้แล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่ถ้าผู้ว่าจ้างเห็นว่าผู้รับจ้างไม่มีทางที่จะทำงานจ้างรายนี้ให้แล้วเสร็จได้ เมื่อครบกำหนด ๖๐ วันแล้ว ผู้รับจ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ ผู้ว่าจ้างมีอำนาจที่จะเลิกสัญญานี้ได้ทันที และหากเกิดความเสียหายใด ๆ ขึ้นอันเนื่องจากผู้รับจ้างเหมาผิดสัญญา ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ตามกฎหมายอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้ เมื่อครบกำหนดแล้วโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาแล้วใช้สิทธิเรียกเบี้ยปรับตามสัญญา แต่กลับยอมต่ออายุสัญญาให้จำเลยโดยยอมรับเอาผลงานของจำเลยและชำระค่าจ้างให้จำเลยในวันซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ครบกำหนดอายุสัญญาที่โจทก์ต่อให้แล้ว แสดงว่า โจทก์ไม่ได้ถือเอาระยะเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลย
4871/2539
โจทก์มิได้ชำระเงินค่างวดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ แม้โจทก์ชำระค่างวดล่วงเลยเวลาที่กำหนด จำเลยก็ยอมรับเงินนั้นตลอดมา ไม่ได้มีการทักท้วงหรือให้จ่ายเบี้ยปรับตามสัญญาแต่อย่างใด แสดงว่าคู่สัญญามิได้มีเจตนาถือเอากำหนดเวลาการชำระค่างวดเป็นสาระสำคัญ ดังนั้น แม้โจทก์จะผิดสัญญาในข้อนี้จำเลยก็จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญายังมิได้ แต่จะต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้ปฏิบัติตาม ป.พ.พ.มาตรา ๓๘๗ เสียก่อน การที่จำเลยได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ตามหนังสือแจ้งริบเงินมัดจำและบอกเลิกสัญญานั้น เป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาแก่โจทก์ เมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยเพื่อขอให้ยืนยันว่าจะปฏิบัติตามสัญญาหรือจะเลิกสัญญาแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ตอบแจ้งมาภายใน ๑๐ วัน จะถือว่าจำเลยประสงค์เลิกสัญญา และจำเลยไม่ตอบไปให้โจทก์ทราบ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาจะเลิกสัญญาอยู่ การที่โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยว่า เมื่อจำเลยไม่ประสงค์ที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่อไป จำเลยจึงต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยรวมทั้งค่าเสียหายตามหนังสือชดใช้ค่าเสียหาย คืนสู่สภาพเดิมเอกสารหมาย จ.๙ นั้น ถือได้ว่าโจทก์แสดงเจตนาสนองตอบตกลงเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้ว สัญญาว่าจ้างงานสถาปัตยกรรมห้องชุดและควบคุมงาน และสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดอาคารชุดระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันเลิกกันโดยความตกลงของคู่สัญญา ผลของการเลิกสัญญาโดยความตกลงของคู่สัญญาเช่นนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าคู่สัญญาได้มีการตกลงกันไว้ประการใดก็ต้องให้คู่สัญญาได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยอนุโลม ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๓๙๑ โดยที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยจึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้พร้อมด้วยดอกเบี้ยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้
อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตามสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดอาคารชุดนั้นใช้บังคับสำหรับกรณีที่มีการผิดสัญญาและคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิเลิกสัญญา แต่การเลิกสัญญาโดยความตกลงของคู่สัญญาโดยไม่ได้มีการผิดสัญญา และคู่สัญญามิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยประการใด เงินที่ได้ชำระกันตามสัญญาผู้รับเงินจึงต้องคืนเงินนั้นพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่เวลาที่ได้รับไว้
4938/2538
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ ๘ ระบุว่า ถ้าจำเลยที่ ๑ ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดยอมให้ถือว่าสัญญานี้เลิกกันโดยโจทก์มิต้องบอกกล่าวก่อนและข้อ ๑๐ ระบุว่า ถ้าโจทก์ยอมผ่อนผันกรณีที่จำเลยที่ ๑ ผิดนัดหรือผิดสัญญาครั้งใดอย่างใด ไม่ให้ถือว่าเป็นการผ่อนผันการผิดนัดหรือผิดสัญญาครั้งอื่นก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อเกินกำหนดเวลาเกือบถึง ๑ ปี และครั้งสุดท้ายชำระไม่ครบจำนวนดังกล่าว โจทก์ก็ยินยอมรับไว้โดยมิทักท้วง พฤติการณ์แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติต่อกันโดยมิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อรวมทั้งจำนวนเงินค่าเช่าซื้อแต่ละงวดตามสัญญาเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญอีกต่อไป หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาก็จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อตามประมวล-กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๗ เสียก่อน
หนังสือที่โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์และราคารถส่วนที่ขายไปยังขาดภายใน ๗ วัน ตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อเป็นเพียงหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายดังกล่าวเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญา
การที่โจทก์ยึดรถที่เช่าซื้อคืนมาจากจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๑ไม่ได้โต้แย้งการยึดแต่อย่างใด เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ต่างประสงค์หรือสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันแล้ว นับแต่วันที่โจทก์ยึดรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้
กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันด้วยความสมัครใจของคู่สัญญา จึงมิใช่เป็นการเลิกสัญญากันโดยผลของสัญญาเช่าซื้อเพราะเหตุจำเลยที่ ๑ ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อหรือผิดสัญญาเช่าซื้อแต่อย่างใด แต่เป็นกรณีที่สัญญาเลิกกันด้วยเหตุอื่นคู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกราคารถส่วนที่ขายไปยังขาดค่าเช่าซื้ออยู่ โดยอาศัยข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อ ๙ ซึ่งระงับไปแล้ว
7327/2538
ตามสัญญาจะซื้อจะขายกำหนดไว้ว่าโจทก์จะต้องชำระเงินมัดจำภายในวันที่ ๑๐ ของทุกเดือนรวม ๑๐ งวด ถ้าไม่ชำระภายในกำหนดเวลาดังกล่าวถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนี้ แม้ว่าโจทก์ชำระเงินมัดจำงวดที่ ๘ เมื่อวันที่ ๑๓กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ และชำระเงินมัดจำงวดที่ ๙ วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๓๓ แต่จำเลยที่ ๑ ก็รับไว้ โดยไม่ได้โต้แย้งแต่ประการใด และในงวดที่ ๑๐ ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายจำเลยที่ ๑ ก็ได้รับจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว เห็นได้ว่าโจทก์ชำระช้าไปเพียงเล็กน้อยและปรากฏว่าวันที่ ๑๐ และ ๑๑ มีนาคม ๒๕๓๓ ตรงกับวันเสาร์และวันอาทิตย์อีกด้วยการที่จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ทักท้วงก็แสดงให้เห็นว่าคู่สัญญามิได้ถือกำหนดระยะเวลาชำระเงินเป็นสาระสำคัญ นอกจากนี้การบอกเลิกสัญญาจำเลยที่ ๑ ก็ไม่ได้อ้างว่าโจทก์ชำระเงินไม่ตรงตามงวดเป็นการผิดสัญญาแต่อย่างใด แต่อ้างเหตุผลในการบอกเลิกสัญญาว่าจำเลยที่ ๑ ประสบกับภาวะขาดทุนเนื่องจากวัสดุก่อสร้างและค่าแรงสูงขึ้น ซึ่งข้ออ้างดังกล่าวไม่ใช่เหตุที่จำเลยที่ ๑ จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การที่โจทก์ชำระเงินมัดจำให้จำเลยที่ ๑ ครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ก่อสร้างบ้านให้โจทก์ตามสัญญาถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา
2455/2537
โจทก์และจำเลยได้ตกลงเลื่อนกำหนดวันจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาไปแล้วหลายครั้งหลายหน โดยต่างไม่ถือว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิดสัญญาแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยมิได้ถือเอากำหนดเวลาตามสัญญาจะซื้อขายเป็นสาระสำคัญอีกต่อไป ดังนั้นจำเลยจะอ้างว่าโจทก์ไม่ชำระราคาที่ดินที่เหลือให้จำเลยตามกำหนดในสัญญา และถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา แล้วให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและริบเงินมัดจำในทันทีหาได้ไม่ จำเลยชอบที่จะต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๘๗ โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้โจทก์ชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือเสียก่อน เมื่อโจทก์ไม่ชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือภายในเวลาที่กำหนดไว้ จำเลยจึงจะเลิกสัญญาแก่โจทก์ได้ เมื่อจำเลยยังมิได้ปฏิบัติตามบทกฎหมายดังกล่าว จะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหาได้ไม่ จำเลยยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์
เมื่อโจทก์มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมรับหนังสือของทนายความโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยละเลยไม่ยอมชำระหนี้ตามสัญญาให้โจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น