เวลาเรียนกฎหมายเรื่องเหตุสุดวิสัยนี้จะไม่สะดุดใจมากนัก แต่เวลาเป็นคดีความกันเรื่องนี้ถือว่าเป็นข้อต่อสู้ที่ใช้ได้สารพัดประโยชน์เหมือนกันนะครับ
เพราะเหตุสุดวิสัย สามารถใช้เป็นข้อแก้ตัวที่จะใช้ยกขึ้นมาต่อสู้ว่าคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ผิดสัญญา ตามป.แพ่งมาตรา 8 ผมได้ค้นฏีกาตามมาตรา 8 ทั้งหมดและเลือกเอาเฉพาะฎีกาที่เกี่ยวข้องกับสัญญาหรือละเมิด และทำเป็น memo ดังนี้
คำพิพากษาเรื่องเหตุสุดวิสัย
1 กรณีที่ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเหตุสุดวิสัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1401/2534
(บจ ศรีอยุธยาประกันภัย โจทก์ บจ.ไทยโซนชิปปิ้ง กับพวก จำเลย)
…ขณะที่เกิดเหตุมีมรสุมคลื่นลมจัด เรือบรรทุกซุงอับปางลงเพราะเรือรั่วเนื่องจากถูกของแข็งภายนอกเรือมากระแทกชนเรือ แม้กับตันจะได้ใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างดีก็ย่อมไม่มีทางหลีกเลี่ยงมรสุมและการกระทบกระแทกจากของแข็งภายนอกเรือได้ เหตุที่เรือรั่วจึงเป็นเหตุสุดวิสัย…
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1194/2531
(หจก. จิตรส่งแสง โจทก์ การประปาส่วนภูมิภาค จำเลย)
…การที่น้ำป่าพัดสะพานพัง ถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย แต่กรณีระดับน้ำในแม่น้ำเมยสูงขึ้นเป็นสิ่งที่เป็นไปโดยปรกติตามฤดูกาลโดยระดับน้ำในหน้าฝนจะสูงขึ้นเช่นนี้ทุกปี ยังถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย…
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3327/2530
(กรมตำรวจ โจทก์ บจ ที. อี. ซี. โอ. จำเลย)
จำเลยทำสัญญาขายชนวนลูกระเบิดซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท อ. ในประเทศออสเตรเลียให้โจทก์ กำหนดส่งมอบสินค้าให้ภายใน 180 วัน ถ้าส่งเกินกำหนดจะถูกปรับ จำเลยส่งสินค้าให้แก่โจทก์เกินกำหนดไป 308 วัน เพราะรัฐบาลออสเตรเลียระงับเรื่องที่บริษัทผู้ผลิตขออนุญาติส่งออกไว้ เนื่องจากสถานการณ์สู้รบระหว่างจีนกับเวียดนาม และเมื่อได้รับอนุญาตให้ส่งออกแล้วต้องส่งผ่านประเทศเยอรมันต้องส่งผ่านประเทศเยอรมันตะวันตก สถานทูตไทย กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลียก็ต้องรับรองต่อรัฐบายเยอรมันตะวันตกอีกว่าชนวนลูกระเบิดจะส่งถึงโจทก์ ทำให้เสียเวลาเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 332 วัน อันเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยและบริษัท อ. ไม่อาจป้องกันได้และไม่อาจคาดหมายว่าจะเกิดขึ้น ทั้งจำเลยไม่อาจจะส่งมอบชนวนลูกระเบิดที่มีแหล่งผลิตจากที่อื่นผิดไปจากข้อสัญญาได้ การส่งสินค้าดังกล่าวล่าช้าจึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบและโจทก์จะใช้สิทธิปรับจำเลยตามสัญญาไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1379/2527
(กรมป่าไม้ฯ โจทก์ นายชัยสิทธิ นันทเสน จำเลย)
จำเลยทำสัญญารับจ้างเฝ้ารักษาไม้ของกลางไว้แก่โจทก์ ถ้าไม้ขาดหรือเป็นอันตราย จำเลยยอมให้ปรับเป็นเงิน ต่อมาเกิดเหตุอุทกภัยพัดพาเอาไม้ของกลางสูญหายไปทั้งหมด อันถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย จึงไม่ก่อให้เกิดหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดตามสัญญา
2 กรณีที่ศาลไม่เห็นว่าเป็นเหตุสุดวิสัย
2.1 การยกขึ้นอ้างเพื่อไม่ต้องรับผิดตามสัญญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9047/2544
(นายภาวัต สอนใจ โจทก์ บจ. ลิฟวิ่งสแตนดาร์ดกรุ๊ป จำเลย)
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 เหตุที่จะถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยได้นั้นจะต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของบุคคลนั้น และต้องเป็นเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้แม้ผู้ประสบเหตุนั้นจะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว
จำเลยประกาศขายโครงการบ้านที่พักอาศัยแก่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งโจทก์ไปแล้ว โดยที่ยังไม่ได้เตรียมเงินลงทุนไว้ให้พร้อมเสียก่อน ต่อมาเกิดปัญหาเกี่ยวกับเงินลงทุนโดยสถาบันการเงินระงับการให้เงินกู้อันเป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจทำให้การก่อสร้างหยุดชะงัก ดังนี้การที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับเงินทุนดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยที่ไม่เตรียมการป้องกันทั้งๆที่สามารถป้องกันได้ จึงไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะเป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6405/2538
(บจ เอ็ม เอ็ม พี แพ็คเกจจิ้งกรุ๊ป โจทก์ บจ. ไพรม์ชิปปิ้ง จำเลย)
…จำเลยมีหน้าที่ต้องนำสืบว่าสินค้าได้รับความเสียหายเพราะเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 616 เมื่อนำสืบได้ความแต่เพียงว่าระหว่างการขนสินค้าได้เกิดพายุและมีคลื่นใหญ่โดยไม่ปรากฎว่ามีความร้ายแรงผิดปรกติจนไม่อาจคาดหมายได้หรือไม่อาจป้องกันไม่ให้สินค้าเสียหายได้ เหตุดังกล่าวจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยตามมาตรา 8…
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2929/2537
(บจ โปรเกรสพลาสติก โจทก์ บจ ยูไนเต็ดไทยชิปปิ้ง จำเลย)
จำเลยผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลบรรทุกสินค้าไม่รัดกุมพอ ใช้อุปกรณ์ผูกรัดตลอดจนวิธีการผู้รัดตู้คอนเทนเนอร์ไม่มั่นคงพอที่จะป้องกันความเสียหายอันเกิดจากคลื่นลมแรงได้ ทั้งไม่ปรากฎว่าวไม่อาจหาวิธีการอื่นใดในการผูกรัดและป้องกันการตกลงไปในทะเลของตู้คอนเทนเนอร์ให้ดีกว่าที่ปฎิบัติแล้วได้ อีกทั้งก่อนออกเรือนายเรือก็ทราบข่าวพยากรณ์อากาศว่าจะเกิดคลื่นลมแรง หากจะหยุดเรือรอจนกว่าคลื่นลมสงบก่อนก็ได้แต่ยังเดินเรือต่อไป เมื่อมีคลื่นลมแรงจัดซัดน้ำทะเลเข้าหาตัวเรือและดาดฟ้าเรือกระแทกตู้คอนเทนเนอร์จนลวดสลิงและโซ่ที่ใช้ผูกรัดตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรทุกสินค้าของโจทก์อาจจะยืดหรือขาดทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ตกลงไปในทะเล กรณีจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่จำเลยจะไม่ต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 616
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1238-1239/2536
(ห้างหุ้นส่วนจำกัด เลิศวิลัยพาณิชย์ ที่ 1 กับพวก โจทก์ บจ.สหมิตรขนส่ง จำเลย)
ได้ความแต่เพียงว่าระหว่างขนส่ง คนขับรถบรรทุกของจำเลยขับไปใกล้ถึงปลายทางได้เกิดเพลิงไหม้ตรงกลางคันรถใต้ผ้าใบคลุมสินค้าโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ปรากฎว่าเหตุเพลิงไหม้นั้นไม่อาจป้องกันได้เพราะเหตุใด และคนขับรถผู้ต้องประสบเหตุนั้นได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้นหรือไม่อย่างไร ยังถือไม่ได้ว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5428/2534
(องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โจทก์ นายพยุง คนชม จำเลย)
จำเลยรับจ้างลากขนไม้เพื่อไปส่งมอบให้แก่โจทก์ แล้วไฟป่าไหม้ไม้โจทก์เสียหาย ปรากฎว่าเหตุไฟไหม้เกิดเดือนมกราคม 2525 เป็นช่วงที่อากาศแห้ง บริเวณที่รวมหมอนไหม้มีไฟป่าเกิดขึ้นบ่อย จำเลยสามารถป้องกันได้โดยถางต้นหญ้าที่ขึ้นปกคลุมกองไม้เสีย และจัดหาเครื่องมือดับเพลิงเตรียมไว้ แต่จำเลยหาปฎิบัติเช่นนั้นไม้ เป็นเหตุให้ไฟไหม้แล้วลามไปไหม้ไม้โจทก์ จึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยหาใช่เป็นเหตุสุดวิสัยไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4151/2532
(บจ ยู.เอ.ที โจทก์ กรมการบินพาณิชย์ จำเลย)
โจทก์สั่งซื้อสิ่งของที่จะขายให้แก่จำเลยไปยังบริษัทผู้ขายก่อนวันที่บริษัทผู้ขายล้มละลาย การที่บริษัทผู้ขายไม่ส่งสิ่งของมาให้โจทก์เป็นเพราะเหตุใด โจทก์ไม่ได้นำสืบแสดงให้ปรากฏ บริษัทผู้ขายอาจมีสิ่งของตามสัญญาอยู่แล้ว สามารถส่งมอบให้แก่โจทก์ได้ก่อนที่จะล้มละลาย แต่ไม่ส่งให้เอง ทั้งโจทก์มิได้นำสืบว่าสิ่งของเหล่านั้น โจทก์ไม่สามารถที่จะจัดหาจากผู้ขายรายอื่นได้ โจทก์จะอ้างว่าโจทก์ไม่สามารถส่งมอบสิ่งของที่ขายให้แก่จำเลยได้ภายในกำหนดสัญญาได้เพราะเหตุสุดวิสัยเนื่องจากบริษัทผู้ขายสิ่งของดังกล่าวให้แก่โจทก์ล้มละลายหาได้ไม่
2.2 การยกขึ้นอ้างเพื่อไม่ต้องรับผิดตามมูลละเมิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6766/2539
(การไฟฟ้านครหลวง โจทก์ การท่าเรือแห่งประเทศไทย จำเลย)
สารตัวเติมออกซิเจนซึ่งมีคุณสมบัติสลายตัวให้ออกซิเจนออกมาหรือทำปฎิกริยากับความร้อน สารอินทรีย์ หรือผสมกันก็จะเกิดการลุกไหม้ขึ้น ถือว่าเป็นทรัพย์อันเกิดอันตรายได้โดยสภาพ เมื่อจำเลยเป็นผู้มีไว้ในครอบครอง จำเลยจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ เมื่อจำเลยเป็นผู้มีไว้ในครอบครอง จำเลยจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพนั้น และการที่จำเลยมีไว้ในครอบครองซึ่งทรัพย์ดังกล่าวในคลังสินค้าอันตรายของจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องตรวจสอบแก้ไขอุณหภูมิของอากาศภายในคลังสินค้าอันตรายที่เก็บรักษาทรัพย์นั้นให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสมกับอุณหภูมิของอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูการอยู่เสมอ ทั้งไม่ได้ความว่าการเก็บรักษาสินค้าอันตรายของจำเลยตามวิธีการขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศที่จำเลยเป็นสมาชิกเหมาะสมกับสภาวะอากาศของประเทศที่มีอากาศร้อนเช่นประเทศไทยหรือไม่ ทั้งจำเลยไม่มีพยานหลักฐานมาสืบแสดงว่าจำเลยมีวิธีการจัดเก็บรักษาสินค้าอันตรายในฤดูร้อนซึ่งอุณหภูมิของอากาศภายในคลังสินค้าอันตรายนั้นสูงกว่าฤดูกาลอื่น แตกต่างกับฤดูกาลอื่นอย่างไร และถ้าเกิดความร้อนภายในคลังสินค้าอันตรายขึ้นแล้ว ไม่มีใครอาจจะแก้ไขหรือป้องกันได้แม้จะจัดการระมัดระวังตามสมควรแล้วก็ตาม ที่จำเลยอ้างว่าอุณหภูมิของอากาศภายในคลังสินค้าอันตรายสูงขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัยจึงฟังไม่ขึ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 75/2538
(นาย นรุสส์ จันวัฒนะ โจทก์ เทศบาลเมืองสงขลากับพวก จำเลย)
ต้นสนที่อยู่ข้างถนนซึ่งเทศบาลจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลมีสภาพผุกรวง แม้จะมีฝนตกและฟ้าคะนองในวันเกิดเหตุ แต่ก็เป็นฝนตกเล็กน้อยและปานกลางในช่วงสั้นๆ และความเร็วของลมก็เป็นความเร็วปรกติ การที่ต้นสนล้มลงทับรถยนตร์โจทก์จึงไม่ใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัยเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน แต่เป็นความบกพร่องของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ยอมโค่นหรือค้ำจุนต้นสนเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 519/2537
(นาย ชลัช ปาลเดชพงษ์ กับพวก โจทก์ กรมทางหลวง จำเลย)
จำเลยเป็นผู้ครอบครองดูแลสายไฟฟ้าใต้ดิน และอุปกรณ์ไฟฟ้าบริเวณทางเท้า ตรงทางเท้าที่เกิดเหตุมีรอยแตกแยกชำรุดและเมื่อขุดลงไปปรากฎว่าสายไฟฟ้าที่เกิดเหตุฝังลึกเพียง 20 เซนติเมตร ซึ่งตามปรกติจะฝังลึกจากพื้นดินประมาณ 60 เซนติเมตร และมีรอยชำรุดโดยไม่มีฉนวนหุ้มเมื่อขุดและยกสายไฟฟ้าขึ้น สายไฟฟ้าใต้ดินได้หลุดออกจากันหากสายไฟฟ้าไม่ชำรุดถึงแม้น้ำจะท่วมสูงขนาดไหนไฟฟ้าก็จะไม่ลัดวงจร ทั้งจำเลยมีเครื่องเมกเกอร์สำหรับตรวจสอบกระแสไฟฟ้ารั่วหลังเกิดเหตุแล้วได้ใช้เครื่องดังกล่าวเพียงครั้งเดียว ก่อนหน้านั้นไม่เคยใช้เลย หากจำเลยใช้เครื่องดังกล่าวตรวจสอบกระแสไฟฟ้ารั่วที่สายเคเบิ้ลใต้ดินบ่อยๆ จำเลยอาจป้องกันแก้ไขกระแสไฟฟ้ารั่วได้ และหลังจากเกิดเหตุแล้วการไฟฟ้านครหลวงได้มีหนังสือถึงจำเลยแนะนำให้เดินสายไฟฟ้าในบริเวณที่เกิดเหตุใหม่ โดยให้เดินในท่อเหล็กขนาดหนา ดังนี้การที่บุตรโจทก์เดินไปบริเวณทางเท้าที่มีน้ำท่วมขังและถูกกระแสไฟฟ้าดูดจนถึงแก่ความตายจึงเป็นเหตุที่อาจป้องกันได้ หากจำเลยจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้ในฐานะที่จำเลยเป็นผู้ครอบครองดูแลสายไฟฟ้าที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นทรัพย์ที่เกิดอันตรายได้โดยสภาพ แต่จำเลยก็หาได้กระทำไม่ ทั้งที่มีเครื่องมือสามารถตรวจสอบได้ เหตุที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่จำเลยจะอ้างเพื่อบอกปัดความรับผิดได้ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น