เรื่องนี้ข้อเท็จจริงประมาณว่า ลูกความไปรับรู้มาว่ามีจำเลยในคดีอาญาเบิกความในศาลทำให้บริษัทลูกความเลยถามมาว่า จะทำอะไรได้บ้าง ผมก็ได้ทำบันทึกขึ้นดังต่อไปนี้ เพื่อรายงานหัวหน้าให้ทราบเพื่อนำไปใช้ตอบลูกความต่อไป
---------------------------------
ตามที่ได้มอบหมายงานให้ศึกษาว่า ถ้าจำเลยในคดีอาญาที่อ้างตนเองเป็นพยานและเบิกความต่อสู้คดีโดยพาดพิงถึงบุคคลภายนอกซึ่งการพาดพิงนั้น ทำให้บุคคลที่ถูกพาดพิงได้รับความเสียหาย ดังนี้แล้วบุคคลที่ได้รับความเสียหายนั้นจะดำเนินคดีกับจำเลยนั้นในทางอาญาและทางแพ่งได้หรือไม่? อย่างไร?
จากการศึกษาได้ผลดังนี้
ในทางอาญา
การกระทำของจำเลยนั้นในเบื้องต้น แยกพิจารณาได้เป็น 3 ฐานความผิด ดังนี้
1.การหมิ่นประมาทตาม ป.อ.มาตรา 326
2.การเบิกความเท็จตาม ป.อ.มาตรา 177
3.การแจ้งความเท็จตาม ป.อ.มาตรา 137
โดยสามารถพิจารณาในรายละเอียดได้ดังนี้
1.การหมิ่นประมาทตาม ป.อ.มาตรา 326 ซึ่งบัญญัติว่า”ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษ…” เห็นได้ชัดว่า การที่จำเลยเบิกความเช่นนั้น เป็นการทำให้ผู้ที่ถูกพาดพิงเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังแล้ว
อย่างไรก็ตาม การเบิกความของจำเลยเช่นนั้นก็เป็นการทำไปเพื่อประโยชน์ของตัวจำเลยเองในคดีคือเพื่อต่อสู้ว่าผลร้ายที่เกิดขึ้นในคดีอาญาที่จำเลยถูกฟ้องนั้น ไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยแต่อย่างใด ซึ่งการเบิกความเช่นนี้กฎหมายได้ยกเว้นความผิดไว้ตาม ป.อ.มาตรา 331 ซึ่งบัญญัติว่า”คู่ความ หรือทนายของคู่ความซึ่งแสดงความคิดเห็น หรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”
นั้นคือถึงแม้ว่าจำเลยจะเบิกความเท็จ ทำให้ผู้ที่ถูกพาดพิงเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังก็ตาม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะ ป.อ.มาตรา 331 บัญญัติยกเว้นความผิดเอาไว้ ดังนี้แล้วการฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ.มาตรา 326 จึงไม่สามารถกระทำได้
2.การเบิกความเท็จตาม ป.อ.มาตรา 177 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาลถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษ…
ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรกได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญาผู้กระทำต้องระวางโทษ…” ถึงแม้จะเห็นได้ชัดว่า (ยังไม่ได้พิจารณาว่าข้อความเท็จที่จำเลยเบิกนั้นจะเป็นข้อสำคัญในคดีหรือไม่) บุคคลภายนอกที่ถูกพาดพิงได้รับความเสียหายจากการเบิกความอันเป็นเท็จของจำเลยก็ตาม แต่ในทางกฎหมายแล้วบุคคลภายนอกดังกล่าว ไม่ใช่ ”ผู้เสียหาย” ที่จะมีอำนาจฟ้องเพื่อดำเนินคดีกับจำเลยในความผิดฐานเบิกความเท็จนี้ได้ ตามการวินิจฉัยของศาลฎีกา ดังต่อไปนี้
ฎีกาที่ 4804/2531 ความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177 กฎหมายมุ่งคุ้มครองเจ้าพนักงานในการยุติธรรมและคู่ความให้ได้รับผลในทางความยุติธรรมแห่งคดีเป็นสำคัญไม่เกี่ยวกับบุคคลนอกคดี นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยหรือไม่ โจทย์ในคดีนี้ไม่ได้ถูกฟ้องหรือเป็นคู่ความคดีอาญาในข้อหาบุกรุก แม้จำเลยจะเบิกความในคดีนั้นว่าอย่างไรก็ไม่มีทางที่โจทก์จะได้รับความเสียหายจากคำเบิกความของจำเลย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงจากคำเบิกความของจำเลยและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ.มาตรา 28(2)
ฎีกาที่ 1709/2524(ประชุมใหญ่) ความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177 กฎหมายมุ่งคุ้มครองเจ้าพนักงานในการยุติธรรมและคู่ความให้ได้รับผลในทางความยุติธรรมแห่งคดีเป็นสำคัญไม่เกี่ยวกับบุคคลนอกคดี และในปัญหาอำนาจฟ้องนั้นยังต้องพิจารณาว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลยหรือไม่
จำเลยฟ้อง ต. และ ช. หาว่าบุกรุกทำให้เสียทรัพย์และทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ โจทก์เป็นทนายความของ ต. และ ช. แม้ในคดีนั้นจำเลยได้เบิกความเท็จว่า โจทก์ได้ไปยังที่พิพาทพร้อมกับ ต. และ ช. และโจทก์ได้ใช้ปืนขู่บังคับให้จำเลยออกไปจากที่ดิน แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้ถูกฟ้องว่าบุกรุกด้วยย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงจากคำเบิกความของจำเลย จึงไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานเบิกความเท็จ
นั้นคือ ถึงแม้ว่าจำเลยจะเบิกความเท็จ โดยที่ความเท็จที่เบิกนั้นจะเป็นข้อสำคัญในคดีหรือไม่ก็ตาม บุคคลภายนอกที่ถูกพาดพิงนั้นก็ไม่ใช่ ”ผู้เสียหาย” ที่จะมีอำนาจฟ้องความผิดฐานเบิกความเท็จได้ ทั้งนี้จากการวินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนี้แล้วการฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ.มาตรา 177 จึงไม่สามารถกระทำได้
3.การแจ้งความเท็จตาม ป.อ.มาตรา 137 ซึ่งบัญญัติว่า ”ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษ…” การเบิกความต่อศาลไม่ใช่เรื่องการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตามนัยฎีกาที่ 2054/2517 ดังนี้
ฎีกาที่ 2054/2517 การเบิกความเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดี มิใช่เรื่องแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน เพราะศาลทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมในการพิจารณาคดีซึ่งมีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 177 มิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานอย่างเจ้าพนักงานทั่วไป จึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ
ดังนี้แล้ว การฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ.มาตรา 137 จึงไม่สามารถกระทำได้
สรุปได้ว่า การที่จำดำเนินคดีกับจำเลยดังกล่าวเป็นคดีอาญาตามฐานความผิดในประมวลกฎหมายอาญานั้น ไม่สามารถกระทำได้
ในทางแพ่ง
การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นการละเมิด ตามที่ ป.พ.พ.มาตรา 423 บัญญัติ ”ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายใดๆอันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนไม่ได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริงแต่หากควรจะได้รู้…” บุคคลภายนอกที่ถูกพาดพิงสามารถฟ้องจำเลยเป็นคดีละเมิดได้ โดยมีภาระในการพิสูจน์ว่าจำเลยเบิกความโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าข้อความที่ได้เบิกไปนั้นเป็นความเท็จ และต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการเบิกความเท็จของจำเลยเป็นจำนวนเงินเท่าใด
ถ้าศาลพิพากษาให้บุคคลภายนอกชนะคดีในเรื่องละเมิดนี้ การเยียวยาความเสียหายที่จะได้รับจะเป็นดังนี้
ป.พ.พ.มาตรา438 ” ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดและเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการและความร้ายแรงแห่งละเมิด
อนึ่งค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้ต้องเสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิดหรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย”
ป.พ.พ.มาตรา447 “ บุคคลใดทำให้เขาต้องเสียหายแก่ชื่อเสียง เมื่อผู้ต้องเสียหายร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นจัดการตามสมควรเพื่อทำให้ชื่อเสียงของผู้นั้นกลับคืนดีแทนให้ใช้ค่าเสียหายหรือทั้งให้ใช้ค่าเสียหายด้วยก็ได้ ”
ทั้งนี้และทั้งนั้น ในการพิจารณาที่จะดำเนินคดีในทางแพ่งนี้จะต้องพิจารณาถึงค่าสินไหมทดแทนที่จะได้จากการชนะคดีด้วย ว่าจะคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายต่างๆในการที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีกับจำเลยหรือไม่ โดยต้องดูว่าความเสียหายโดยตรงที่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้นั้น คิดเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น