อันนี้เป็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องอายุความ ในเรียนอาจไม่ค่อยเห็นความสำคัญของเรื่องอายุความมากนัก แต่ในการทำงานจริง อายุความเป็นเรื่องที่ต้องดูก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรเลย เพราะถ้าขาดอายุความแล้วก็จบเห่กัน
------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง อายุความสัญญาซื้อขายและอายุความสัญญาตีอสังหาริมทรัพย์ใช้หนี้
เรียน คุณ Partner
จาก Associate
วันที 9 กุมภาพันธ์ 2547
-----------------
ตามที่คุณ Partner ได้มอบหมายให้สืบค้น เรื่องอายุความในการฟ้องร้องของผู้ประกอบการค้าเพื่อให้ผู้ซื้อสินค้าชำระราคา ว่ามีอายุความกี่ปี? และเรื่องอายุความในการฟ้องตามสัญญาที่บุคคลภายนอกตกลงยินยอมที่จะนำอสังหาริมทรัพย์มาโอนตีใช้หนี้ว่าใช้บังคับได้หรือไม่และถ้าใช้บังคับได้จะมีอายุความกี่ปี?
ในกรณีอายุความซื้อขาย มีฎีกาซึ่งมีข้อเท็จจริงคล้ายกัน ซึ่งได้วินิจฉัยว่ามีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. 193/33(5) ดังนี้
ฎีกาที่ 209/2540 โจทก์เป็นบริษัทจำกัดประกอบกิจการโรงงานผลิตอาหารสัตว์ทุกชนิดเพื่อจำหน่าย จำเลยทั้งสองมีอาชีพเลี้ยงกุ้งและเป็นลูกค้าโจทก์โดยซื้ออาหารและผลิตภัณฑ์การเลี้ยงกุ้งไปเพื่อเลี้ยงกุ้งจำหน่าย มิได้ซื้อไปเพื่อเลี้ยงกุ้งไว้บริโภคเอง กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ดังนั้นอายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ จึงมีกำหนด 5 ปี หาใช่ 2 ปีไม่ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ลงชื่อยอมรับยอดหนี้ตามบันทึกลงวันที่ 1 ตุลาคม 2533 อันมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลง เมื่อนับระยะเวลาจากวันดังกล่าวถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ในกรณีของสัญญาที่บุคคลภายนอกตกลงยินยอมใช้หนี้นั้น ศาลตีความว่าเป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่ใช้บังคับได้ ดังนี้
ฎีกาที่ 2948/35 ข.ขับรถยนต์ชนรถยนต์ของโจทก์เสียหายเจ้าพนักงานเปรียบเทียบปรับ ข. และทำบันทึกตกลงทางแพ่งไว้ว่า จำเลยขอรับชดใช้ในมูลละเมิดทั้งหมดและรับชดใช้ซ่อมรถยนต์โจทก์ให้อยู่ในสภาพเดิม ถือว่าในขณะทำบันทึก ข. มีหนี้ต้องชำระแก่โจทก์ การที่จำเลยยอมทำบันทึกดังกล่าว เป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกขอเข้ามาชำระหนี้แทน ข. ลูกหนี้ แม้บันทึกดังกล่าวจะไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้แต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นการขืนใจลูกหนี้และไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ และมีผลผูกพันจำเลยให้ต้องรับผิด
ฎีกาที่ 4138/33 บุตรของจำเลยออกเช็คชำระหนี้ค่าน้ำมันให้โจทก์แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยเกรงว่าบุตรของจำเลยจะถูกดำเนินคดีจึงทำสัญญารับชำระหนี้ให้โจทก์เอกสารดังกล่าวไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้ แต่ฟังได้ว่าเป็นสัญญารับใช้หนี้แทนลูกหนี้อันเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งคู่ความกระทำด้วยความสมัครใจเมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นการขืนใจลูกหนี้และไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญา
ในกรณีของอายุความสัญญาตีใช้หนี้ดังกล่าวนั้น เมื่อไม่ได้มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตาม ป.พ.พ. 193/30
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
Associate
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น