วันจันทร์ที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ข้อตกลงสละค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม บังคับได้ ?

บันทึก
เรื่อง การสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
เรียน คุณ Partner
จาก Associates
วันที่ 23 เมษายน 2550
-------------------------------------------------------------------

ตามที่คุณ Partner ได้มอบหมายให้ค้นค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยมีข้อเท็จจริงว่าลูกจ้างได้รับค่าเงินชดเชยตามกฎหมายไปครบถ้วนแล้ว และได้ทำหนังสือไว้กับนายจ้างโดยมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษซึ่งเมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้วมีใจว่าว่า ลูกจ้างตกลงยอมรับว่าบริษัทซึ่งเป็นนายจ้างไม่มีภาระความรับผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับกับการเลิกจ้างของลูกจ้างต่อไปนับแต่วันที่ทำหนังสือฉบับดังกล่าว

จากการค้นฎีกาที่เกี่ยวข้องกับ “การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม” , “การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม” และ “การเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรม” จากระบบค้นหาฎีกาทางอินเตอร์เน็ต (ตามที่ได้แนบมาด้วย)

พบว่ามีฎีกาที่วินิจฉัยว่าหนังสือสละสิทธิเรียกร้องมีผลผูกพันลูกจ้าง ฎีกาที่ 4635/2541 โดยข้อเท็จจริงในคดีนี้มีว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์และจำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินเท่ากับค่าจ้าง 7 เดือน เงินช่วยเหลือจำนวน 300,000 บาท และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 872,374 บาท ให้แก่โจทก์แล้ว และโจทก์ได้ทำหนังสือรับเงินชดเชยค่าตอบแทนให้ไว้แก่จำเลยโดยระบุว่า “โจทก์ขอสละสิทธิในการที่จะเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินหรือข้อเรียกร้องอื่นใดตามกฎหมายต่อไปทั้งสิ้น” ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่าค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนี้เป็นเงินตามกฎหมายอย่างหนึ่ง แต่มิใช่เป็นเงินค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ย่อมสละเงินดังกล่าวได้ การที่โจทก์ทำบันทึกสละสิทธิในการเรียกร้องเงินดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องจากจำเลยอีก (ตามที่ได้แนบมาด้วย)

อย่างไรก็ตามฎีกาที่ 4635/2541 ดังกล่าวนั้นไม่ได้มีการพิมพ์เผยแพร่ (ทั้งเนติบัณฑิต และสำนักงานส่งเสริมตุลาการ) จึงไม่สามารถถ่ายเอกสารมาจากหนังสือได้

Associate


*********************************************************************

บันทึก
เรื่อง การตีความบันทึกข้อตกลงการเลิกจ้าง
เรียน คุณ Partner
จาก Associate
วันที่ 25 เมษายน 2550
---------------------------------------------------------------------

ตามที่คุณ Partner ได้มอบหมายให้ค้นคว้าหาข้อสนับสนุนหรือคัดค้านเกี่ยวกับเรื่องการตีความข้อความข้อหนึ่งในบันทึกข้อตกลงการเลิกจ้างซึ่งเป็นข้อความที่ทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ และเมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้วมีใจความว่า

“ลูกจ้างยืนยันว่าโดยการทำข้อตกลงการเลิกจ้างฉบับนี้ ลูกจ้างตกลงยอมรับว่าบริษัทซึ่งเป็นนายจ้างไม่มีหน้าที่ความรับผิดตามกฎหมายอื่นใดนอกจากนี้(หมายถึงนอกจากค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินชดเชยตามกฎหมายซึ่งลูกจ้างได้รับไปเรียบร้อยแล้วตามข้อความที่ได้กล่าวถึงไว้ก่อนหน้า) เกี่ยวกับกับการเลิกจ้างของลูกจ้างต่อไปนับแต่วันที่ทำหนังสือฉบับดังกล่าว”

ตามบันทึกจัดทำให้คุณ Partner ก่อนหน้านี้ (ได้แสดงไว้ข้างบน) พบว่ามีฎีกาที่วินิจฉัยว่าในกรณีที่ลูกจ้างได้รับเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินชดเชยตามกฎหมายไปแล้ว และในการรับเงินจำนวนดังกล่าวนั้นลูกจ้างได้ทำบันทึกข้อตกลงว่า ลูกจ้างขอสละสิทธิในการที่จะเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินหรือข้อเรียกร้องอื่นใดตามกฎหมายต่อไปทั้งสิ้น” การสละสิทธิดังกล่าวมีผลผูกพันตามกฎหมายทำให้ลูกจ้างไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอีก

ดังนั้นปัญหาจึงมีอยู่ว่าข้อความในบันทึกที่จัดทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษดังกล่าวข้างต้นมีผลเท่ากันกับการสละสิทธิเรียกร้องของลูกจ้างหรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากในบันทึกดังกล่าวไม่ได้มีการกล่าวไว้โดยชัดแจ้งถึงการสละสิทธิของลูกจ้างแต่อย่างใด ข้อความมีเพียงว่าลูกจ้างยอมรับว่านายจ้างไม่มีภาระหน้าที่ตามกฎหมายต่อลูกจ้างในเรื่องการเลิกจ้างอีกต่อไปแล้วเท่านั้น

ปัญหานี้จากการค้นฏีกาที่เกี่ยวข้องกับการ “ตีความ”(ตามที่ได้แนบมาแล้ว) ไม่พบว่ามีประเด็นที่น่าจะเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามจากการศึกษาหนังสือ “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมาย” ได้ให้คำอธิบายว่า สิทธิและหน้าที่เป็นของคู่กัน เมื่อกล่าวว่าบุคคลใดมีสิทธิก็ต้องหมายความต่อไปด้วยว่ามีบุคคลที่มีหน้าที่ต้องเคารพสิทธินั้น ในทางตรงกันข้ามถ้ากล่าวว่าบุคคลใดมีหน้าที่ก็ต้องหมายความต่อไปด้วยว่ามีบุคคลที่มีสิทธิเรียกร้องให้ปฏิบัติตามหน้าที่นั้น ดังนี้แล้วในกรณีที่ลูกจ้างได้ทำบันทึกยอมรับแล้วว่านายจ้างไม่มีหน้าที่ต่อลูกจ้างเกี่ยวกับการเลิกจ้างอีกต่อไป ก็ต้องหมายความว่าลูกจ้างยอมรับว่าตนเองไม่มีสิทธิเรียกร้องกับนายจ้างเกี่ยวกับการเลิกจ้างอีกต่อไปด้วยเช่นกัน นั้นคือลูกจ้างสละสิทธิในการเรียกร้องที่ตนมีต่อนายจ้างแล้ว

ดังนั้นสรุปได้ว่า แม้ว่าถ้อยคำจะไม่ได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งถึงคำว่าสละสิทธิก็ตาม แต่โดยความหมายแล้วข้อความดังกล่าวก็มีผลเท่ากันกับว่าลูกจ้างสละสิทธิเรียกร้องแล้ว

จึงรายงานมาเพื่อโปรดพิจารณา
Associate

ไม่มีความคิดเห็น: